รมว.ศึกษาธิการ ถกบอร์การศึกษาปฐมวัย เตรียมนำร่องปี 65 เด็กปฐมวัยไม่ต้องสอบเลื่อนชั้นขึ้นป.1 เหตุโควิดพ่นพิษเรียนได้ไม่เต็มที่ ไม่อยากให้สอบแข่งขันด้วยเนื้อหาวิชาการ ชี้ เป็นการทำร้ายเด็กเกินไป
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเด็กปฐมวัย เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดตั้งสำนักเด็กปฐมวัยขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) เนื่องจากมี พ.ร.บ.การศึกษาเด็กปฐมวัย มาตั้งแต่ปี 2562 พร้อมกับมีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมถึงมีการทำงานด้านเด็กปฐมวัยที่ต้องเชื่อมโยงกับ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดการศึกษาเด็กปฐมวัย ซึ่งทำให้แผนงานด้านเด็กปฐมวัยกว้างมากขึ้น แต่บุคลากรและองคาพยพที่ดูแลงานด้านดังกล่าวมีจำนวนไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนการทำงาน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างสกศ.โดยการจัดตั้งสำนักเด็กปฐมวัยขึ้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อดูแลการศึกษาปฐมวัยทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นแผนการศึกษา สมรรถนะครู และสมรรถนะของสถานศึกษาเด็กปฐมวัย ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัยเป็นระบบมากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของเด็กปฐมวัยได้มีการศึกษากรณีเด็กปฐมวัยจะเลื่อนชั้นขึ้นในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 นั้นไม่ควรให้มีการจัดสอบเกิดขึ้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายฯมองว่าเด็กปฐมวัยควรจะมีความพร้อมด้านร่างกายด้านกล้ามเนื้อ จิตใจ และอารมณ์ทางสังคมมากกว่าการบังคับให้สอบตามรายวิชาเพื่อใช้เลื่อนชั้น อีกทั้งสถานการณ์ในขณะนี้เรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้ไม่ได้จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปให้มีการทดลอง 1 ปี ซึ่งจะเริ่มนำร่องทดลองในปีการศึกษา 2565 โดยจะห้ามให้มีการจัดสอบด้วยการกำหนดข้อสอบที่เป็นเนื้อหาด้านวิชาการในระดับเด็กปฐมวัยเพื่อเลื่อนชั้นขึ้น ป.1 ทุกสังกัด ซึ่งจะต้องไม่มีการสอบเกิดขึ้น ทั้งนี้ ศธ.จะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รับทราบด้วย เนื่องจากเราจะต้องอ้างอิงสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ เพราะหากมีการจัดสอบที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาวิชาการจะเป็นการทำร้ายเด็กมากเกินไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วัน4 ตุลาคม 2564