ถอดสูตรเรียนออนไลน์พิษโควิด-19!? ผลวิจัยชี้เด็กหลักแสนคนขาดเครื่องมือการเรียน
คณะกรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา เสนอเร่งคืนโรงเรียนให้เด็กคือภารกิจแรก
เป็นเวลากว่าเกือบสองปีที่สถานศึกษาต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องงดการเรียนการสอนและจำเป็นต้องปรับรูปแบบมาเป็นระบบการสอนทางไกล หรือการสอนออนไลน์ แม้บางคนอาจมองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างตอบโจทย์ในยุคดิจิทัล สามารถเข้าถึงได้อย่างไร้ข้อจำกัด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงและปรับตัวกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาอยู่เป็นทุนเดิม ท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้ ยิ่งทำนักเรียนกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยที่ชัดเจนขึ้นจากปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน
การปรับรูปแบบเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเด็กนักเรียน แต่ได้กระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งระบบการศึกษา ครูผู้สอนประสบปัญหาขาดอุปกรณ์เพื่อจัดการสอน เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน ต้องเตรียมการสอนมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี และยังต้องค้นหารูปแบบการสอนหรือเทคนิคที่จะสามารถจูงใจเด็กได้ด้วยตัวเอง สำหรับผลกระทบต่อเด็กนักเรียน พบว่าส่วนใหญ่เกิดปัญหาสุขภาพทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ เด็กเกิดความกังวลกับการเรียน รู้สึกเบื่อหน่าย เหนื่อยล้า จากการนั่งอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ไม่มีสมาธิจดจ่อกับบทเรียน และยังต้องเผชิญกับภาวะความรู้ถดถอย รวมถึงเกิดความเครียดสะสมเมื่อไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนและสังคมภายนอก
นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ยังเพิ่มภาระในการดูแลบุตรหลานให้กับผู้ปกครอง เนื่องจากต้องมีส่วนร่วมกับครูผู้สอนเพื่อช่วยให้เด็กตั้งใจและจดจ่อกับบทเรียนได้ หรือต้องช่วยสอนการบ้านเมื่อบุตรหลานไม่เข้าใจ ซึ่งบางครอบครัวไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ พ่อแม่เกิดความเครียดเพราะต้องทำงานหนักขึ้น จากการแบกรับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ หลายครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์และโอกาสทางการศึกษาได้ นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาในที่สุด จากข้อมูลการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภาคเรียนที่ 2/2563 พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงที่ประสบปัญหาการเรียนในช่วงโควิด-19 เนื่องจากครัวเรือนขาดแคลนไฟฟ้าและอุปกรณ์ในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ มีจำนวนกว่า 271,888 คน
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า นอกจากความไม่พร้อมของกลุ่มเด็กในครอบครัวที่มีปัญหาด้านรายได้ ครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีประสบการณ์การสอนออนไลน์ รวมถึงพ่อแม่ที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับลูกได้ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้ แม้ว่าสถานศึกษาหรือครูผู้สอนจะปรับตัวต่อรูปแบบการสอนออนไลน์ได้ดีแค่ไหน แต่ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าสังคม การเรียนรูปแบบปกติจึงสำคัญและจำเป็นที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องเร่งหาแนวทางการเติมเต็มการเรียนรู้ที่ขาดช่วงไปตลอดระยะเวลาเกือบสองปีของเด็ก รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการสอนของครูทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อรองรับรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายในอนาคต
“ปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดันให้กลับมาจัดการเรียนการสอนรูปแบบปกติได้โดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดการสูญเสียทางการศึกษาไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์สำคัญของคณะกรรมการ ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการตามแผนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปบิ๊กร็อคที่ 1 ที่มุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยสามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป”
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงการเรียนออนไลน์ในปัจจุบันว่า การปรับตัวในการเรียนการสอนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งสถานศึกษา ครู และนักเรียน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จในกลุ่มเด็กเล็ก ครูผู้สอนต้องหาแนวทางในการสอนที่สนุกและดึงดูดเด็กให้ได้ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าประโยชน์ของการเรียนออนไลน์คือ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ต้องการได้อย่างกว้างไกลและไร้ขีดจำกัด ในขณะเดียวกันรูปแบบการเรียนการสอนแบบปกติก็ยังมีความจำเป็น เนื่องจากเด็กๆ ควรได้ทำฝึกทำกิจกรรมและทักษะรอบด้าน ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจะพัฒนาเทียบเท่าต่างประเทศต่อไปในอนาคตได้ จำเป็นต้องใช้การเรียนรูปแบบผสมผสานระหว่างการเรียนแบบออนไลน์และออนไซต์ จึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด