ด้วยปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการโยกย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาคุณภาพครูรุ่นใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ในชุมชนพื้นที่ห่างไกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขานรับนโยบายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้ดำเนินโครงการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เข้าสู่รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษา ช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยการให้ทุนนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาในโรงเรียนชุมชนบ้านเกิดอย่างมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะศึกษาศาสตร์ สาขาประถมศึกษา เป็น 1 ใน 7 สถาบันที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้คัดเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมผลิตและพัฒนาครูให้เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 31 คน จากนักเรียนที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลโรงเรียนเป้าหมาย มีใจรักจะเป็นครูประถมศึกษาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีผลการเรียนดีตลอด 5 ภาคการศึกษา และคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ซึ่งผู้แทนนักศึกษาได้เข้ารับโอวาทจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้โครงการจะเป็นลักษณะต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2567 จำนวน 5 รุ่น ซึ่งผลจากการดำเนินงานในรุ่นที่ผ่านมา ได้ผลิตครูให้กับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา เป็นนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทั้งนี้โครงการได้เน้นการส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ผู้เรียนรักบ้านเกิด ร่วมแก้ไขปัญหา เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและชุมชนได้ โดยโครงการได้สนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพ ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียน จนจบการศึกษา
นายพิเชษฐ์ ชวลิตอมรพงษ์ ตัวแทนนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน
“ผมมีใจรักที่อยากจะเป็นครู แต่ทางบ้านไม่สามารถที่จะส่งเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อสานฝันของตัวเองในการเป็นครู และเพื่ออยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองให้มีศักยภาพ ในด้านของการพัฒนาชุมชน พัฒนาการศึกษา ให้เท่าทันกับชุมชนในเมืองครับ”
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนองรับนโยบายทางการศึกษา มุ่งสร้างชุมชนแห่งวิชาชีพครูเพื่อตอบสนองการศึกษาแห่งอนาคต สู่การเป็นบัณฑิตครูที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและวิถีโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญคืออยู่บนถิ่นฐานได้อย่างมีความสุขและเกิดความยั่งยืน