ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. จัดงานเสวนาออนไลน์ ขยายบทเรียนความสำเร็จ 2 ปี รุดเดินหน้าต่อปี 3 เสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิถีการพึ่งพาตนเองจากฐานชุม
ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน
เสวนาออนไลน์ Little Big Communities Talks EP.6 “Lifelong Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต วิถีการพึ่งพาตนเองจากฐานชุมชน” ในวันพุธที่ 15 กันยายน 2564 เวลา 13.30-16.30 น. เพื่อนำเสนอบทเรียนความสำเร็จการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมาของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ในการพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และยกระดับให้มีทักษะความรู้ ความสามารถสำหรับการประกอบอาชีพในสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดรายได้หล่อเลี้ยงตนเองและครอบครอบครัว ภายใต้การทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยการทำงานที่ผ่านมามุ่งหวังให้เกิดการนำรูปแบบหรือโมเดลการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ไปขยายผลและขับเคลื่อนในชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
ภายในงานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้จะได้พบกับ 5 ตัวแทนหน่วยพัฒนาอาชีพ ที่จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่องราว บทเรียนการทำงานที่มีคุณค่ากับคนด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ในหัวข้อ “Lifelong Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต วิถีการพึ่งตนเองจากฐานชุมชน” ที่ทำงานร่วมกับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ได้แก่ นางสาวสุวรรณ ทรัพย์ศิริกาญจนา จากเทศบาลตำบลเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย ในประเด็น เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง...ไม่ ‘ขัง’ การเรียนรู้ กับการเปลี่ยนบทบาทการทำงานของเทศบาลในการพัฒนาอาชีพคนในชุมชนอย่างตรงจุดและตรงใจให้กับชุมชน นางสาวพัชรนันท์ วงค์พนัสสัก จากวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู ในประเด็น ภารกิจส่งต่อความรู้สู่ ‘ฅนหลังกำแพง’ กับบทบาทสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่เป็นที่พึ่งด้านความรู้ทางวิชาการให้คนในชุมชนโดยเฉพาะผู้ต้องโทษให้ได้รับการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนเหล่านี้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี นายอะหมัด หลีขาหรี จากวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ จังหวัดสงขลา กับการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการรื้อฟื้น ภูมิปัญญาการดูแลและขยายพันธุ์ส้มจุกจะนะที่เกือบจะสูญหายไปให้ฟื้นคืนกลับมา และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดย่อม ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านการพัฒนาทักษะแล้วคอยทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจ นายนิกร กล่อมดวงใจ จากมูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดนจังหวัดตาก กับการสร้าง ‘กระบวนการเรียนรู้’ ผ่านการเก็บข้อมูลผลผลิตในไร่หมุนเวียนและวิเคราะห์ต้นทุนวิถีชีวิต ทุนวัฒนธรรม ก่อนนำข้อมูลเหล่านั้นไปวางแผนการสร้างระบบตลาด จนเกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชนและสร้างเครือข่ายภายนอกระหว่างหมู่บ้าน เพื่อเปิดตลาดสำหรับรองรับผลผลิตภายในเครือข่ายจาก 6 ชุมชนโดยรอบ รวมถึงสร้างเส้นทางตลาดภายนอก ได้แก่ ตลาดภายในอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และนายเพียงฟ้า สุทธิพรมณีวัฒน์ จากศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อนจังหวัดลำปาง กับการสร้างแนวคิด มุมมอง และทัศนคติ ของคนพิการให้สามารถลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนชุมชนและความต้องการของคนพิการ จนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ ไปจนถึงการรวมกลุ่มเครือข่ายของคนพิการในตำบล เพื่อช่วยเหลือกันในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจของคนพิการในการดำเนินชีวิตในสังคม
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. และดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ ร่วมสะท้อนคิดการทำงานในปีที่ผ่านมาร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง หน่วยงานภาครัฐ คุณสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณนิติธร ทองธีรกุล ผู้จัดการฝ่ายเครือข่ายและชุมชนสัมพันธ์ องค์การกระจายเสียงเเละแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และคุณจำนงค์ จิตรนิรัตน์ กรรมการอาวุโสมูลนิธิชุมชนไท เพื่อทบทวนและเติมเต็มมุมมองการทำงานในปีถัดไป รวมถึงเพื่อสร้างพื้นที่เชื่อมโยงเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษากลุ่มคนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ผ่านการเรียนรู้ผ่านทักษะอาชีพโดยใช้ฐานชุมชน ในการดำเนินงานในปี 2564 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือลงทะเบียนร่วมงานผ่านระบบ zoom
คลิกที่ link นี้: https://bit.ly/3817MDc หรือ Scan QR code ในโปสเตอร์