เฮลั่น! ศธ.กางแผนเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ระดมฉีดไฟเซอร์ 29 จว.สีแดงเข้ม
วันที่ 13 กันยายน 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนฺช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการแถลงข่าว "เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า" โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.), นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.), นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว ซึ่งการจัดงานได้จำกัดจำนวนผู้ร่วมงาน มีเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามข้อบังคับฯและปฏิบัติตามเกณฑ์ของ ศปก.ศบค.
น.ส.ตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธาน ว่า ศธ. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิดและมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือ 5 On ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเปิดภาคเรียนต่อไปให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เบื้องต้นมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ได้แก่ 1.แผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ เทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ในเดือนตุลาคม จะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วนรวดเร็วที่สุด ซึ่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็น ประธาน ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด ทั้งในและนอก ศธ. ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่มีกว่า 4.5 ล้านคน
“ส่วนการฉีดวันซีน วางแผนไว้จะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีดวัคซีน โดยมีเป้าหมายว่าต้องทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด ซึ่ง สธ.จะเป็นผู้วางแผนการกระจายวัคซีน และ ศธ. จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองได้รับรู้ถึงความจำเป็น ความสำคัญ และผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนให้เด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน ดิฉันมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำแบบสำรวจความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว โดยคาดว่าปลายเดือนกันยายนนี้ จะได้ข้อมูลสรุปจำนวนนักเรียนที่ผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนได้ ทั้งนี้ ไม่อยากให้กังวลว่าผู้ปกครองไม่ยอมให้เด็กฉีดวัคซีน ศธ.จะเร่งสร้างความเข้าใจ เพราะปัญหาโควิด-19 ไม่ได้แค่ฉีดวัคซีนแล้วจบ แต่เราต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไป จึงต้องทำอย่างไรไม่ให้มีกระทบกระเทือนกับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของประชาชน” น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า การเปิดภาคเรียนที่ 2 ในรูปแบบปกติ ต้องดูว่าวัคซีนมาตามแผนหรือไม่ ปัญหาการระบาดของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร โดยศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สาธารณสุขจังหวัด ต้องร่วมกันประเมินว่าจะสามารถเปิดเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ โดยเน้นความปลอดภัยของเด็กเป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ตาม การเปิดเรียนเทอม 2 นี้ ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนด้วย ส่วนข้อกังวลว่าถ้าเด็กได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังติดเชื้ออยู่ ศธ.,สธ.และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็มีแผนเผชิญเหตุรองรับอยู่แล้ว เช่น ถ้ามีเด็กติดเชื้อจำนวนเท่าใด จึงควรปิดสถานศึกษา เป็นต้น
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า 2.แผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ ทั้งนี้ การเป็น โรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. เป็นโรงเรียนประจำ 2. เป็นไปตามความสมัครใจและ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของศธ. และสธ.รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus
รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มว่า ในขณะนี้ มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษาจำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม
“ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานกับ สธ.ให้เข้ามาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดย ศธ.จะเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีนด้วย สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคม นี้ จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยัง ไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู รวมถึงธุรการ ภารโรงทุกคนเพื่อให้โรงเรียนเป็นทีาปลอดภัยที่สุด” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมาเรียนในโรงเรียนไม่ได้ อาจจะมีรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนตามบริบท เพื่อให้เด็กสามารถเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ เช่น ครูได้รับวัคซีนครบถ้วน และในชุมชนไม่มีการระบาดของโรค อาจจะให้เด็กสลับวันมาเรียนที่โรงเรียนได้ เป็นต้น สรุปคือการที่เด็กจะได้เรียนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้ประเมินและพิจารณา อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กที่ผู้ปกครองไม่ยินยอมให้ฉีกวัคซีน ในเบื้องต้นก็ยังสามารถเรียนออนไลน์ที่บ้านได้ แต่ถ้าจะมาเรียนที่โรงเรียนก็ต้องผ่านการคัดกรองโรคมากกว่าคนอื่น
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพวศ์ อธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า ตามแผนที่วางไว้วัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาในช่วงปลายเดือนกันยายน นี้ ประมาณ 2 ล้านโดส และในเดือนตุลาคม จะทยอยเข้ามาประมาณสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส ซึ่ง สธ.คาดว่าจะสามารถฉีดเข็มที่ 1 ให้นักเรียนได้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม และจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป การฉีดวัคซีนต้องคำนึง 2 อย่าง คือ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ฉีดในประเทศไทย ต้องผ่านการรับรองประสิทธิภาพและได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย ส่วนวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับเด็กต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ อย.อนุมัติวัคซีนที่สามารถฉีดในเด็กได้คือ ไฟเซอร์และโมเดอนา
“ขอให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย สธ.จะดูแลเรื่องนี้อย่างดีร่วมกับ ศธ. โดยการฉีดวัคซีนให้เด็กครั้งนี้ เป็นการฉีดวัคซีนตามความประสงค์ของผู้ปกครอง โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอความร่วมมือให้ สธ.เร่งฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด ซึ่ง สธ.จะเร่งผลักดันเรื่องนี้และจะขยายขอบข่ายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับผู้ปกครองด้วย” นพ.โอภาส กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564