ภาคเรียนที่1ปรับวิธีการสอบใหม่
รมว.ศึกษาธิการ ประกาศ การจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ปรับการวัดและประเมินผลของนักเรียน โดยภาคเรียนที่ 1 ปรับการรูปแบบสอบใหม่ ให้ทำโครงงาน โปรเจคท์งาน หรือใบงานแทนการมานั่งกาข้อสอบ
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของ ศธ.และรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ปกครองในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพ โดยฝากให้ รมว.ศธ. เร่งมอบเงินให้ถึงมือผู้ปกครองโดยเร็ว และขอบคุณ ศธ.ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ขอให้ ศธ.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนารูปแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การเรียนวิถีใหม่ และต้องลดภาระผู้ปกครอง นักเรียน และครู ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ.ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา ได้แก่ 1.การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ สังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. 2.อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ 3.การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเงินเยียวยาจำนวนดังกล่าวขณะนี้ตนทราบดีว่าผู้ปกครองกำลังรออยู่ ซึ่ง ศธ.ได้เร่งรัดกระบวนการจ่ายเงินจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งเป็นเรื่องระบบของทางราชการ ดังนั้นเมื่อเงินมาถึง ศธ.เราจะรีบดำเนินการภายใน 7 วันทันที สำหรับการวัดและเมินผลนักเรียนนั้น ขณะนี้กำลังสอบปลายภาคเรียนที่ 1 แล้ว โดยเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดประกาศเรื่องการวัดและประเมินผลนักเรียนใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการสอบต่างๆ จะลดลง โดยจากนี้ไปการวัดและประเมินผลด้วยการสอบจะเปลี่ยนใหม่ให้สอดคล้องกับการเรียนในยุคนี้ เช่น การมอบหมายการทำโครงงาน หรือโปรเจคชิ้นงาน รวมถึงการนับชั่วโมงเรียน เป็นต้น ซึ่งการวัดและประเมินผลจะต้องยืดหยุ่นมากขึ้น
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเราจัดการศึกษามาได้ระยะหนึ่งเราจะพบว่าหากเราจัดการสอบแบบเดิมเหมือนการเรียนที่โรงเรียนแบบปกติจะเกิดปัญหา เพราะนักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน แต่เป็นการเรียนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ออนไลน์ หรือ แจกใบงานให้ไปทำที่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นการวัดและประเมินผลที่ผ่านมาจะต้องมีการสอบกาคำตอบที่ถูกต้องด้วย ก ข ค ง แต่การเรียนในยุตวิกฤตเช่นนี้ต้องยืดหยุ่นไม่จำเป็นต้องมานั่งทำข้อสอบ เพราะนักเรียนไม่ได้เรียนวิชาการแบบเต็มรูปแบบ เช่น การสอบผ่านรูปแบบใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงานแทน เป็นต้น
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนภาคเรียนที่ 2 ซึ่งเป็นการสอบเพื่อเลื่อนชั้นและจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 หากไม่มีการวัดและประเมินผลด้วยการสอบก็จะไม่มีคะแนนใช้ศึกษาต่อได้ ดังนั้นเราต้องไม่ทำให้เด็กช่วงชั้นเหล่านี้เสียสิทธิ แต่จะต้องหาวิธีการวัดและประเมินผลให้ยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน สำหรับมาตรฐานการวัดและประเมินผลของแต่ละสถานศึกษานั้นจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการปล่อยเกรดเกิดขึ้น เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่การวัดและประเมินผลในสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องประเมินเพื่อให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาขึ้น ซึ่งถือว่าดีแล้ว โดยตนได้ย้ำกับสถานศึกษามาตลอดว่าการจัดการเรียนการสอนต้องยึดความปลอดภัยของครูและนักเรียน ส่วนมาตรฐานที่นักเรียนสามารถแข่งขันได้คงต้องรอหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วค่อยมาเติมทักษะให้ดีขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 16 สิงหาคม 2564