ศธ. แถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน และลดภาระงาน ช่วยเหลือบรรเทา "ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง" ถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงคุณครูที่เป็นด่านหน้าในการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ
มาตรการที่ 1 การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อาทิ โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนทุกสังกัดที่เปิดสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.นี้
มาตรการที่ 2 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ
มาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ขณะที่การลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น รวมถึงการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง ซึ่งการนับเมื่อเกิดการเรียนรู้จะช่วยลดความตึงเครียด ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว
“นอกจากนี้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณต่างๆ โดยเฉพาะงบอุดหนุนรายหัวในบางรายการที่เดิมกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้จ่ายในเรื่องนี้เท่านั้น เช่น งบหนังสือจะต้องซื้อหนังสือเท่านั้น ในส่วนนี้ต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษานำไปลดภาระครูต่อไป ซึ่งการปรับงบประมาณบางรายการต้องขออนุมัติจาก ครม. โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งทำเรื่องเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว ส่วนงบไหนที่กระทรวงฯ สามารถปรับแก้ระเบียบเองได้ จะเร่งเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อให้ครูมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และพัฒนาการเรียนการสอนได้โดยเร็ว” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน และมีเวลาดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ สพฐ. จึงได้วางแผนจัดทำแนวทางลดภาระครูและนักเรียน พร้อมเสนอให้ รมว.ศธ. พิจารณา ซึ่งได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ สพฐ. จะจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อลดภาระครูและนักเรียนดังกล่าว ส่งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศต่อไป
โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้เข้าไปศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูมีภาระงานจำนวนมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหน่วยงานส่วนกลางมีโครงการต่างๆ ลงไปให้โรงเรียนปฏิบัติเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีกิจกรรมที่ต้องประเมินและรายงานอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้นเพื่อสร้างความผ่อนคลาย และทำให้ครูไม่เครียดกับการรายงาน หรือภาระงานอื่น ๆ และมามุ่งเน้นที่การสอนเป็นหลัก จึงได้ให้ชะลอการดำเนินกิจกรรม โครงการ หรือการประเมินต่างๆ ออกไป เพื่อให้ครูได้ทำการสอนอย่างเต็มที่ จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้บริหารโรงเรียน นำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติตามด้วย
“สำหรับแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้น จะเน้นที่การสอนวิชาหลัก ส่วนวิชาอื่นให้บูรณาการร่วมกัน ในส่วนตัวชี้วัดก็เปลี่ยนให้ครูเน้นการสอน ตัวชี้วัดต้องรู้และบูรณาการให้เข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียน รวมถึงบทบาทของครูต้องเปลี่ยน โดยครูกับผู้ปกครองจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียน ส่วนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอน คาดว่าแนวปฏิบัตินี้จะช่วยลดความเครียดให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าว ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบออนไลน์เข้ามาร่วมในพิธี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ปกครองในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพ โดยฝากให้ รมว.ศธ. เร่งมอบเงินให้ถึงมือผู้ปกครองโดยเร็ว และขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมการประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 16 สิงหาคม 2564