จากแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน เพราะการเรียนรู้นำการศึกษา โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา การเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ได้จำกัดเฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น” ประกอบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายรูปแบบ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) โดยให้สถานศึกษาพิจารณารูปแบบการจัดการศึกษาที่ขึ้นอยู่กับสภาพบริบท ความเหมาะสม และความปลอดภัยของพื้นที่แต่ละแห่ง
จากแนวคิดและแนวปฏิบัติเชิงนโยบายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อการเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ทั้งสถานที่จัดการเรียนรู้ และเวลาที่เรียนรู้ โดยที่การวัดและประเมินผลผู้เรียนก็ควบคู่ไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้ของครูเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การวัดและประเมินผลสามารถสะท้อนคุณภาพของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 2561 และสามารถนำผลไปใช้พัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นฐาน สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) โดยให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) สำหรับให้สถานศึกษาและครูผู้สอนนำไปใช้วางแผนและเป็นกรอบในการดำเนินงาน ดังนี้
1.การวัดและประเมินผลผู้เรียน แต่ละระดับการศึกษา
เนื่องจากผู้เรียนแต่ละระดับการศึกษา มีธรรมชาติ และความซับซ้อนของพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การวัดและประเมินผลผู้เรียน จึงต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับธรรมชาติและระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา ดังนี้
1.1 ระดับปฐมวัย เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับการจัดการเรียนให้กับเด็กในระดับการศึกษานี้ ยังไม่มุ่งเน้นการอ่านและการเขียนเป็นหลัก สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1) ใช้วิธีการวัดและประเมินรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น การสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น โดยครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดทำแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน
2) มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
3) ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการจัดส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินพัฒนาการหรือพฤติกรรมของผู้เรียนย้อนกลับให้ครูผู้สอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ
4) สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อประเมินและตรวจสอบพัฒนาการของเด็ก โดยคำนึงถึงสภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่
5) เน้นการประเมินพัฒนาการของเด็ก เพื่อมุ่งการพัฒนาและเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคล
1.2 ระดับประถมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน คิดคำนวณ และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1) ใช้วิธีการและรูปแบบการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมและหลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น
2) ครูผู้สอนจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผลให้ผู้เรียนเป็นผู้ส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับให้ครูผู้สอน
3) ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน
4) สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของผู้เรียน โดยคำนึงสภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่
5) มีการจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผลการทำกิจกรรมร่วมกัน
6) มีการใช้แบบทดสอบรูปแบบต่าง ๆ ในการวัดและประเมินผู้เรียนตามความเหมาะในแต่ละระดับชั้น
1.3 ระดับมัธยมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน คิดคำนวณ และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผู้เรียนยังมีความสามารถในด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1) ใช้การวัดและประเมินผลผู้เรียนด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น
2) อาจมีทั้งการทดสอบ โดยใช้ข้อสอบและกระดาษคำตอบผ่านระบบการสอบออนไลน์ การทดสอบโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น
3) มีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการทดสอบและประเมินผู้เรียน ดังนั้นในการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนสามารถจัดระบบให้ผู้เรียนสามารถส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับได้ด้วยตนเองไปให้ครูผู้สอน โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือช่องทางการสื่อสาร อื่น ๆ
4) ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน
5) สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน โดยคำนึงสภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่
6) จัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน
2. การวัดและประเมินผลตามพฤติกรรมของมาตรฐานและตัวชี้วัด
เนื่องจากมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออก 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill) และด้านคุณลักษณะ (Attribute) ดังนั้น การวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน จึงจำเป็นต้องพิจารณาและกำหนดรูปแบบวิธีการให้เหมาะสมกับลักษณะของพฤติกรรมที่ต้องการวัด ดังนี้
2.1 ด้านความรู้ (Knowledge)
1) การวัดและประเมินผลใช้การทดสอบเป็นหลัก ข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบมีทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและข้อสอบแบบเขียนตอบ ควรใช้วิธีการทดสอบที่หลากหลาย ได้แก่ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบออนไลน์ และรูปแบบที่ไม่ได้เชื่อมต่อในคอมพิวเตอร์เครือข่าย (ออฟไลน์) โดยให้ผู้เรียนสามารถสอบที่บ้านได้ ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
2) มีการมอบหมายงาน นัดหมายเป็นกลุ่ม สำหรับการใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ ควรจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัด และมีการนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า
3) การทดสอบด้วยข้อสอบแบบเขียนตอบ ควรกำหนดให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบ แล้วจัดส่งข้อมูลการทำข้อสอบมาให้ครูผู้สอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ
4) สามารถวัดพฤติกรรมด้านความรู้ของผู้เรียน ผ่านการทำรายงานที่สะท้อนถึงพฤติกรรมตามตัวชี้วัด แล้วจัดส่งรายงานย้อนกลับมายังครูผู้สอน ผ่านระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ
2.2 ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill)
1) การวัดและประเมินผลใช้การประเมินภาคปฏิบัติเป็นหลัก เน้นการประเมินตามสภาพจริงที่บ้าน ใช้แบบประเมินการปฏิบัติงาน แบบตรวจสอบรายการ แบบบันทึกผลงาน และแบบบรรยายการปฏิบัติงาน เป็นต้น
2) วิธีการจัดส่งงาน สามารถใช้การถ่ายวีดิทัศน์ การถ่ายรูปภาพผลงาน การบันทึกเสียง โดยประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินทักษะกระบวนการของผู้เรียน
3) สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อประเมินและตรวจสอบความสามารถด้านทักษะและการปฏิบัติงานของผู้เรียน โดยพิจารณาถึงสภาพ ความปลอดภัย และมาตรการของแต่ละพื้นที่
4) มีการมอบหมายงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้ปฏิบัติงานทั้งที่บ้านหรือสถานศึกษา เพื่อจะได้ทำการประเมินทักษะการปฏิบัติงานของผู้เรียน
2.3 ด้านคุณลักษณะ (Attribute)
1) การวัดและประเมินผล ใช้การสังเกตและตรวจสอบพฤติกรรมเป็นหลัก เครื่องมือวัดและประเมินผู้เรียนมีหลากหลายประเภท เช่น แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินตนเอง เป็นต้น
2) ควรประสานขอความร่วมมือกับผู้ปกครองในการประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมที่บ้าน การมอบหมายให้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
3) สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน โดยพิจารณาถึงสภาพ ความปลอดภัย และมาตรการของแต่ละพื้นที่
4) มีการมอบหมายงานให้ผู้เรียนปฏิบัติงาน นัดหมายร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน
3. การวัดและประเมินผลแต่ละจุดมุ่งหมาย
การวัดและประเมินผลผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ 1) การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment/Assessment For Learning/ Assessment As Learning และ 2) การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Sumative Assessment/Assessment Of Learning) ดังนั้น ครูผู้สอนควรกำหนดรูปแบบและแนวทางการวัดและประเมินผลในแต่ละจุดมุ่งหมาย ดังนี้
3.1 การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1) ยึดหลักการประเมินและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่แยกส่วน เน้นการประเมินเพื่อพัฒนา และตรวจสอบพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
2) ออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลตามมาตรฐานและตัวชี้วัด ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย เช่น การทดสอบ การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การสัมภาษณ์หรือการซักถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินตนเอง การประเมินตามสภาพจริง เป็นต้น
3) วัดและประเมินผลผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลาของการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
4) มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลและสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) กลับไปยังครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง
5) นำและฝึกการใช้คำถามประเภทต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นคิดให้กับผู้เรียน ให้มีการสามารถแสดงความคิดเห็น อภิปราย และวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม
6) ควรจัดทำแนวทางการพัฒนาตนเองของผู้เรียน มีการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้หรือแหล่งข้อมูลในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน เพื่อมอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติงาน มีการประเมินตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อกำกับการเรียนรู้ของตนเอง
6) จัดส่งข้อมูลผลการประเมินย้อนกลับไปให้ครูผู้สอนผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ
3.2 การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนหลังสิ้นสุดปีการศึกษา/ภาคเรียน สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1) ควรกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดสำคัญที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้และสามารถสะท้อนคุณภาพผู้เรียนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน
2) ควรใช้วิธีการหรือรูปแบบการทดสอบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับจำนวนและลักษณะธรรมชาติของผู้เรียน เช่น การใช้โปรแกรมทดสอบสำเร็จรูป ในการทดสอบแบบออนไลน์ ที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง การจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัด แล้วนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า
3) อาจนัดหมายผู้เรียนมาสอบเป็นกลุ่มย่อย ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
4) จัดส่งข้อสอบให้ผู้เรียนทำที่บ้าน แล้วให้นักเรียนจัดส่งข้อสอบกลับคืนครูผู้สอนผ่านช่างทางการสื่อสารต่าง ๆ เป็นต้น
5) อาจนำผลการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในบทเรียนหรือหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ หรือผลงาน ชิ้นงานที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ มาวิเคราะห์ และสรุปผลเพื่อตัดสินโดยภาพรวม โดยยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้การทดสอบความรู้เพียงวิธีเดียว
6) ครูผู้สอนสามารถเลือกใช้ข้อสอบมาตรฐานที่มีการให้บริการจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน (SIBS) ระบบคลังข้อสอบตามแนวทางการทดสอบ PISA (PISA Online Testing) ที่สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพัฒนาขึ้น ทั้งในการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาและการวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ได้อีกด้วย
4. การตัดสินผลการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
การตัดสินผลการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้ยึดตามแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดขึ้น โดยการตัดสินผลการเรียนใช้ผลการประเมินระหว่างปี/ภาคเรียนและผลการประเมินปลายปี/ภาคเรียน ตามสัดส่วนที่สถานศึกษากำหนด
ดาวน์โหลดไฟล์แนบ
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ
ที่มา สำนักทดสอบทางการศึกษา