นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ) ที่การประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้นำผลการประเมินการพัฒนางานตามข้อตกลงไปใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะดังกล่าว โดยเห็นควรกำหนดหลักการการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดความซ้ำซ้อนจากการประเมิน ลดภาระงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระด้านงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงบูรณาการกันระหว่างการประเมินแต่ละระบบ ดังนั้น จึงกำหนดรูปแบบการประเมินที่ใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน เพื่อให้สามารถนำผลการประเมินมาใช้
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ทั้งในการประเมินเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ รวมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน จะเน้นระบบการประเมินแบบ Performance-based Appraisal เป็นหลัก โดยใช้ระบบการประเมินแบบ Result-based Appraisal ร่วมด้วย และกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน (ยกเว้นตำแหน่งครูผู้ช่วย) ต้องจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานทุกปีงบประมาณเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่ง ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนางานของแต่ละตำแหน่ง โดยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละคนต้องปฏิบัติงานให้ได้ตามระดับการปฏิบัติที่คาดหวังตามตำแหน่งและวิทยฐานะของตนเอง ซึ่งในส่วนของการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้น ผลการประเมินข้อตกลงการพัฒนางานจะนำมาใช้พิจารณาผลการประเมิน และมีองค์ประกอบดังนี้ การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงาน 80 คะแนน การประเมินการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา 10 คะแนนการประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 10 คะแนน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่า ด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มี 2 ระบบ คือ ระบบเอกสาร และระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนระเบียบนี้ อย่างน้อยทุกรอบระยะเวลาสองปี เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมและความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ได้มีการพัฒนาหรือได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และเป็นไปตามสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการแก้ไขเป็น (ร่าง) ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วย ระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งในรายละเอียดของ (ร่าง) ระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การจัดทำข้อมูลทะเบียนประวัติจะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว โดยจะไม่มีการจัดทำระบบเอกสาร
และในขณะเดียวกันสำนักงาน ก.ค.ศ. ก็ได้พัฒนาระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ (CMSS) ควบคู่ไปพร้อมกับ (ร่าง) ระเบียบ ก.ค.ศ.ฯ ดังกล่าวด้วย เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สามารถจัดทำทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถนำข้อมูลในระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ (CMSS) ไปใช้ในการบริหารงานบุคคล เพื่อให้สามารถสืบค้น อ้างอิง และใช้เป็นหลักฐานที่ใช้ในราชการได้ ซึ่งเป็นไปตามวาระเร่งด่วน (Quick win) ของ ศธ. ที่ให้จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศให้เป็นระบบ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564