ทุกข์ที่เกิดจาก การเอาใจเป็นใหญ่
ไม่มีใคร ‘ได้ดั่งใจ’ ของใครเสมอไปหรอก... ก็ขนาดตัวเราเองแท้ๆ ยังไม่ได้ดั่งใจตัวเองอยู่บ่อยๆ แล้วจะให้คนอื่นทำอะไรให้ได้ดั่งใจของเราตลอดเวลาได้อย่างไร
ความรู้สึก ‘ไม่ได้ดั่งใจ’ นี้ คือทุกข์ของมนุษย์ค่อนโลก พอไม่ได้ดั่งใจแล้ว แทนที่จะโทษว่าใจตัวเองไปหวังอะไรก็ไม่รู้ ลมๆ แล้งๆ กลับไปโทษว่าคนอื่นไม่ได้ดั่งใจของเราเสียนี่ ก็แล้วใจเรามันใหญ่มาจากไหนกันล่ะ ถึงได้กะเก็งว่า คนอื่นเขาจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ถูกใจเราอยู่ฝ่ายเดียว
คนอื่นเขาก็มีหัวใจของเขานะ เรายังอยากให้ทุกเรื่อง ทุกอย่าง ทุกคน ได้ดั่งใจของเราเลย แล้วคนอื่นเขาจะไม่อยากให้เป็นดั่งใจของเขาบ้างหรืออย่างไร เขาก็น่าจะอยากนะ ว่าไหม...
ความจริงของ ‘คน’ กับ ‘ใจ’
ความจริงที่ต้องตระหนักก็คือ คนทุกคนต่างมี ‘หัวใจ’ เป็นของตัวเอง ในหัวใจของทุกๆ คนต่างก็มีความรู้สึกและความประสงค์หรือความต้องการที่ต่างกันไป เขาถึงมีคำว่า ‘ต่างจิตต่างใจ’ ออกมาใช้กันอยู่ไงเล่า ทุกคนจึงต่างกัน ต่างที่ตรงไหน ก็ที่ ‘จิตใจ’ นี้เอง จิตใจเป็นตัวกำหนดความต้องการ ความต้องการเป็นตัวกำหนดการกระทำ (เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการนั้น) รวมๆ ทั้งหมดแล้วเรียกว่า พฤติกรรม
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอธิบายความต่างของคนเอาไว้ว่า เป็นคนเหมือนกัน แต่กลับไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนนั้น มี ‘ความชอบ’ ไม่เหมือนกัน มีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน โดยท่านทรงเรียกสิ่งนี้รวมๆ ว่า ‘จริต’
คนทุกคนมีจริตต่างกัน จึงคิดต่างกัน เชื่อต่างกัน และทำต่างกัน
1. คนบางคนรักสวยรักงาม ชอบแต่งตัว ชอบประดิษฐ์ ทำงานช้าแต่ละเอียด คนประเภทนี้ท่านเรียกว่า คนราคจริต
2. บางคนใจร้อน หงุดหงิด ชอบแสดงอำนาจเป็นนิสัย ทำอะไรเร็ว พูดเร็ว ไม่สนใจเรื่องละเอียด คนประเภทนี้ท่านเรียกว่า คนโทสจริต
3. บางคนชอบแสดงว่าตนไม่รู้อะไรไว้ก่อน เพราะปลอดภัย เพราะกลัวผิด กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกใช้งาน การไม่รู้คือไม่ต้องทำ เมื่อไม่ทำก็ไม่ผิด ท่านเรียกคนประเภทนี้ว่า คนโมหจริต
4. บางคนเชื่อง่าย ชื่นชมอะไรง่ายๆ โดยไม่พิจารณา หรือตำหนิง่ายๆ แล้วกลับชื่นชมอีกเมื่อคนอื่นชื่นชม แปลว่า กลับคำได้ง่าย ทำตามคนอื่น ไม่มีจุดคิดของตนเอง ท่านเรียกคนประเภทนี้ว่า คนสัทธาจริต
5. บางคนชอบคิด ชอบแสดงเหตุผล ชอบศึกษาเรียนรู้ ชอบหาความจริงของเรื่องนั้นๆ เป็นนิสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะเห็นได้ด้วยปัญญาของตน ท่านเรียกคนประเภทนี้ว่า คนพุทธิจริต
6. บางคนเป็นคนจับจด ฟุ้งซ่าน ชอบบ่น จู้จี้จุกจิก ทำงานแบบหยิบโหย่ง ไม่จับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ชอบเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ คิดมากกังวลมาก ท่านเรียกคนประเภทนี้ว่า คนวิตกจริต
ที่ทรงตรัสสอนเรื่องนี้ ก็เพื่อให้คลายทุกข์ที่ผูกติดอยู่กับความเข้าใจผิดว่าคนทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่เราคิด คนอื่นก็ควรจะคิด สิ่งที่เราทำ คนอื่นก็ควรจะทำ สิ่งที่เรารู้ คนอื่นก็ควรจะรู้ สิ่งที่เราอยาก คนอื่นก็ควรจะอยาก เราจึงหลงเพ้อไปว่า เขาน่าจะทำได้ดั่งใจเราเสมอ ซึ่งมันไม่ใช่
คุณของ ‘จริต 6’
เรื่อง ‘จริต 6’ ที่ทรงตรัสสอนนี้ ทรงคุณในการสร้างปัญญาให้คน เพื่อให้คนคลายหรือผ่อนจากการยึดติด แล้วมีสติที่จะพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงที่เที่ยงแท้แน่นอนว่า คนมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีธรรมชาติของเขา ซึ่งหากเราเข้าใจได้ดี เราก็สามารถกำหนดวิธีที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อเขาได้อย่างสอดคล้องกับจริตของคนคนนั้น ปัญหาที่มักจะเกิดอย่างพร่ำเพรื่อหรือเกินจำเป็นก็จะได้ไม่เกิด หรือปัญหาที่เกิดจากใจเราคิดไปเอง หวังไปเอง กะเก็งไปเองก็จะได้ไม่เกิด ‘หวังผิด’ ก็ต้องลงเอยที่ ‘ผิดหวัง’ เป็นธรรมดา... จริงหรือไม่จริง...
ขณะเดียวกัน จริต 6 ก็ยังกระตุ้นเตือนให้เราทุกคนหันกลับมาพิจารณาตนเองด้วย ว่าเราก็มี ‘จริต’ ประจำตัวเหมือนกันนะ ใช่ว่าเรานั้นจะวิเศษไปกว่าใครๆ
จริตประจำตัวของแต่ละคน มีทั้งข้อดีและข้อด้อย
อะไรเป็นข้อดีก็ให้กำหนดใช้เพื่อนำความดีไปสู่ผู้อื่น และนำความดีมาสู่ตนเอง อะไรเป็นข้อด้อย ก็ให้กำหนดใช้ด้วยความระมัดระวัง และมั่นหมายว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้มีคุณกับชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเราหรือชีวิตของใครก็ตาม
จริตทั้งหลายจึงพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ ใช่ว่าเคยเป็นอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นไปตลอดชีวิต เพียงแต่จริตนี้เป็น ‘ธรรมชาติที่ฝังรากลึก’ หรือพูดด้วยภาษาทางโลก ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ‘กมลสันดาน’ ที่หากไม่ถึงขั้นขุดรากถอนโคน ก็คงไม่หาย ไม่กลาย ไม่เปลี่ยน
มนุษย์นั้นเจริญได้ด้วยวิวัฒนาการหรือพัฒนาการ ทางแห่งศีลธรรมจึงถูกออกแบบไว้เพื่อให้เกิดการฝึกกาย วาจา ใจ และจิต รวมทั้งจริตด้วย ให้วิวัฒน์สู่ความละเอียดประณีตตามวัยและการศึกษาที่ก้าวหน้าขึ้น ตามสติที่แข็งแรงและปัญญาที่เรืองรองในตนเอง หรือเกิดจากการชี้แนะแก่กันและกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็โปรดหยุดทุกข์ระทมเพราะเหตุว่าคนก็ดี งานก็ดี ฐานะก็ดี เกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ลาภยศสรรเสริญก็ดี ไม่ได้ดั่งใจของเราเสียที
หยุดพร่ำบ่นฟูมฟายถอนใจเฮือกๆ ว่า มีลูก ลูกก็ไม่ได้ดั่งใจ มีสามี สามีก็ไม่เอาไหน มีลูกน้อง ลูกน้องก็ไม่เอาอ่าว มีเจ้านาย เจ้านายก็ไม่เอาทะเล นี่เราคิดจากใจเราเองทั้งนั้น ไม่ได้คิดจากใจผู้อื่นหรือผู้เกี่ยวข้อง ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราใส่ใจแต่ใจและความต้องการของตัวเราเองทั้งหมด จึงไม่ได้ดั่งใจสักที
ถอนทุกข์ออกจากใจ คือถอนใจออกจากทุกข์ ยังมีทุกข์ในโลกอีกมาก เกิดจากการที่เราเอา ‘ใจ’ ของตัวเองเป็นใหญ่ ขอให้ตระหนักว่าใจนั้นยิ่งใหญ่ แต่จะยกให้มัน ‘เป็นใหญ่’ เสียทีเดียวก็คงไม่ได้... ใจเหมือนเข็มทิศชี้ทาง แต่การเดินทางไปยังทิศที่หมายไว้นั้น ต้องกำหนด ‘วิธี’ ด้วยสติปัญญา จะบุ่มบ่ามเดินตามแต่ใจไปดุ่ยๆ ไม่ได้ เพราะมีโอกาสผิดพลาดเสียหาย ล้มเหลว และเจ็บปวดผิดหวังได้อย่างง่ายดาย เหมือนการดำเนินชีวิต ใจของเรามักเรียกร้องต้องการมากมาย อยากมีบ้านสวยๆ ใหญ่ๆ โก้ๆ อยากมีรถหรูๆ มีรายได้สูงๆ มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีความสำคัญ มีคนรัก มีครอบครัวที่อบอุ่น ว่านอนสอนง่าย ฯลฯ
ในจินตนาการหรือ ‘ภาพที่ใจคิดขึ้น’ เป็นอย่างนั้นได้และง่ายมาก แต่ในการลงมือทำเพื่อให้ได้มาหรือเพื่อไปถึงสิ่งที่ใจอยากนั้น...ไม่ง่ายเลย! หากรู้ความจริงข้อนี้ และไม่ปล่อยใจให้คิดเพ้อ ก็จะทุกข์น้อยลง หรือหากใจมันอยากคิด ก็ให้มันคิดของมันไป เพราะเป็นความสุขทางใจ แต่ในแง่ของความเป็นจริง เราผู้เป็นเจ้าของชีวิตก็ต้องคิดให้แตกว่า อะไรเป็นจริงได้ อะไรเป็นจริงยาก และอะไรไม่มีทางเป็นจริงได้ เพื่อจัดเรียงความสำคัญ ก่อนจะทุ่มเททำเพื่อให้สิ่งที่ใจคิดฝันนั้นเป็นจริงตามเหตุและผล
วิธีที่เราจะถอนทุกข์ออกจากใจได้ประการหนึ่ง คือดึงเอาใจออกมาจากกองทุกข์ให้ได้เสียก่อน ใจที่ฝังจมกับความคาดหวัง หวังว่าชีวิตน่าจะเป็นอย่างนี้ คนอื่นน่าจะเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นแค่ ‘ความน่าจะเป็น’ เราแขวนชีวิตไว้กับความน่าจะเป็นไม่ได้หรอก ต้องเลือกว่าจะให้ชีวิตเป็นอย่างไร โดยต้องเป็นอะไรก่อน เพื่อจะเป็นอะไรทีหลัง
อย่าเพ้อหวังว่าเราจะได้ทุกๆ อย่างดั่งใจในเวลาเดียวกัน มีหลายเรื่องราวในโลกที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วย นึกถึงความจริงข้อนี้ซะ แล้วนึกถึงคนอื่นไปพร้อมๆ กัน จะได้เดินออกจากความเอาแต่ใจ ไปสู่ความเข้าใจและความเห็นใจ ใจจะได้ผ่องแผ้วสดใส และชีวิตก็เบาสบายขึ้น เพราะไม่ต้องทุกข์โดยมี ‘ใจ’ ของตนเป็นต้นเหตุ!!