รองเลขาธิการ กพฐ.เผย ใช้งบ 64 ผุดโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” อุ้มเด็กพิการได้เรียนที่บ้านช่วงโควิด สนับสนุนสื่อการสอนอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมกรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาซึ่งเป็นนโยบายเรื่องการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมดำเนนินการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งได้ดำเนินโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” เกิดขึ้น ตามข้อสั่งการของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้สนับสนุนงบประมาณของปี 2564 ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเด็กพิการที่ขอรับบริการที่บ้านในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวได้มีการสนับสนุนสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเตรียมความพร้อม และส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กที่รับบริการที่บ้านตามความต้องการจำเป็นพิเศษเป็นรายบุคคล รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็กพิการ ซึ่งใช้งบประมาณ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกใช้งบประมาณปี 2564 ของ สพฐ. สนับสนุนงบประมาณ 979,800 บาท จัดสรรให้กับเด็กที่รับบริการที่บ้าน 9,798 คน ซึ่งเป็นข้อมูลวันที่ 31 ก.ค. 63 คนละ 100 บาท ส่วนที่สองใช้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สนับสนุนงบประมาณ 10,205,000 บาท จัดสรรให้กับเด็กที่รับบริการที่บ้าน จำนวน 10,205 คน เป็นข้อมูลวันที่ 31 ม.ค. 64 คนละ 1,000 บาท ดังนั้น สพฐ.ได้สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเด็กกลุ่มดังกล่าวจำนวน 11,184,800 บาท เฉลี่ยคนละ 1,096 บาท โดยศูนย์การศึกษาพิเศษจัดส่งสื่อออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ปกครอง และติดตามให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาบุตรหลานตามความต้องการจำเป็นพิเศษเป็นรายบุคคลผ่าน Application Zoom ผ่านทาง Line หรือผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564