สพฐ.เตรียมพัฒนาครูมีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล ปรับวิธีการเรียนการสอนรับผิดชอบผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน
วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 13/2564 ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อสามารถเตรียมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามการขับเคลื่อนนวัตกรรม Active Learning ในสถานศึกษา รวมถึงการดำเนินงานโรงเรียนคุณภาพ การพัฒนาเด็กปฐมวัย ความคืบหน้าในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) และการพัฒนาบุคลากร ในภาพรวมของปี 2564 จนถึงแผนพัฒนาบุคลากรในปี 2565 ที่จะถึงนี้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ มีการจำแนกกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ บุคลากรทางการศึกษา 38ค(2) ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ จำนวน 42,276 คน และกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย ครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา จำนวน 393,512 คน โดยกลุ่มที่ 1 มีแนวทางการพัฒนาตามหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน ก.พ. ในทักษะเชิงยุทธศาสตร์ ทักษะด้านภาวะผู้นำ และทักษะตามสายงาน ส่วนกลุ่มที่ 2 มีแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ในด้านการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านในการจัดการเรียนรู้ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอน และการใช้สื่อที่ทันสมัย มีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน
“ในขณะนี้ที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ส่วนสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จคือโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง หรือโรงเรียนสะแตนด์อะโลน เราต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพ แต่คนที่จะทำให้โรงเรียนเหล่านี้เกิดคุณภาพได้ก็คือบุคลากร ซึ่งบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดและเกิดวิธีการทำงานใหม่อย่างที่เราคาดหวัง และต้องพัฒนากี่ปีจึงจะครอบคลุมเป้าหมายที่เราตั้งเป้าไว้ ด้วยแนวทางที่ต้องการพัฒนาครูในด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติที่มีต่องานในหน้าที่ เราก็ต้องมาดูหลักสูตรการพัฒนาว่าตอบโจทย์ที่จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพหรือไม่ หรือหากจะพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ต้องดูว่าจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร และต้องเสริมอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้เขามีอาวุธในการขับเคลื่อนภารกิจงาน เพื่อให้สามารถต่อยอดและเป็นประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศชาติได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 14 กรกฎาคม 2564