เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งจากการประเมินพบว่า ครูมีความกังวลโดยเฉพาะเรื่องการวัดประเมินผล จึงมีข้อเสนอให้ทบทวนตัวชี้วัด ว่า ให้เลือกเฉพาะตัวชี้วัดที่จำเป็นจริง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะที่จะวัด เพราะการเรียนออนไลน์หากเรายังคงตัวชี้วัดแบบเดิม ระยะเวลาการเรียนตามประกาศกระทรวงที่กำหนดว่าปีละ 200 วัน จะไม่สามารถเรียนได้ครบตามกำหนด และที่ประชุมยังได้ฝากไปถึงครูด้วยว่า ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน เพราะการเรียนออนไลน์ คือ การยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะมานั่งอยู่หน้าจอตลอดเวลา โดยมีการเสนอแนะว่า รูปแบบการสอนต้องเปลี่ยนเป็นลักษณะอื่นบ้าง ไม่ต้องให้เด็กนั่งเฝ้าแต่หน้าจอ เช่น วิชาภาษาไทยต้องเรียน 4 คาบ ก็ให้เรียนเป็นบล็อกวันจันทร์เรียนตั้งแต่ 8 โมงถึงเที่ยงให้จบไปเลย หรือ ให้เด็กเรียนเมื่อไหร่ก็ได้จากคลิปที่ครูบันทึกไว้ในชั่วโมงสอน เพื่อเป็นการยืดหยุ่นตามเวลาที่เด็กสะดวก และมีแรงบันดาลใจที่จะเรียน แทนที่จะต้องมานั่งเช็กชื่อทุกวิชาทุกชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่เป็นออนไลน์จริง ๆ ไม่ใช่แค่การยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน
“นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพูดเรื่องความพร้อมของสถานศึกษา ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะครูกลุ่มหนึ่งยังขาดประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน ครูบางคนก็สอนออนไลน์ได้ ขณะที่บางคนก็สอนออนแฮนด์คือเอาเอกสารไปแจกนักเรียนที่บ้าน ปัญหาที่ตามมาคือการเอาเอกสารไปแจกสู้การเรียนออนไลน์ไม่ได้ เพราะเด็กต้องเรียนรู้เอง ไม่สามารถยกมือถามครูได้ ความเข้าใจในบทเรียนจะต่ำกว่าออนไลน์ ขณะเดียวกันปัญหาที่ตัวนักเรียนและผู้ปกครองบางส่วนไม่พร้อมก็ยังมีอยู่” ประธาน กพฐ.กล่าวและว่า วันนี้มีโรงเรียนเสนอขอขยายชั้นเรียน ม.ปลาย เข้ามา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วไม่อนุมัติให้ขยาย เพราะโรงเรียนดังกล่าวมีจำนวนนักเรียนน้อย และมีครูไม่ครบวิชา ทำให้ต้องจ้างครูใหม่ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนที่เคยขยายมาแล้วขอเลิกขยาย เพราะจำนวนนักเรียนลดลง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าหากไม่จำเป็นจริง ๆ จะไม่ให้โรงเรียนขยาย ม.ปลาย ถ้าสามารถไปเรียนโรงเรียนมัธยมตำบลได้ก็ให้ไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 กรกฎาคม 2564