นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ กรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย(คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่าตามที่เครือข่ายองค์กรครูหลายองค์กรมีความห่วงใยในเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ขาดการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู เป็นร่างกฎหมายที่มีวาระซ่อนเร้นตั้งแต่ต้นที่จะทำให้วิชาชีพครูด้อยค่า เป็นร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีหน่วยงานระดับกรมเพียงหน่วยงานเดียวคือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และมีความเป็นไปได้ว่าวิชาชีพครูจะไม่ได้เป็นข้าราชการอีกแล้ว นั้น
นายรัชชัยย์ฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรา 35 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่า”ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสถานะและได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ มีความโปร่งใสในการรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งได้อย่างเป็นธรรมและได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพรวมตลอดทั้งหลักประกันในการที่ครูจะสามารถดำรงตนและปฏิบัติหน้าท่ีตามมาตรา 32 มาตรา 33และมาตรา 34 ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่มีมาตราใดบัญญัติคำว่า “ข้าราชการครู” ในขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ใช้ในปัจจุบัน นั้นบัญญัติชัดเจนว่า “ข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐ”
นายรัชชัยย์ฯยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่าตนเชื่อโดยสนิทใจว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับนี้จะทำให้ไม่มีข้าราชการครูอีกต่อไปเพราะพิจารณาจากนโยบายของรัฐเมื่อปี พ.ศ.2562 ที่มีนโยบายไม่บรรจุบุคคลที่สำเร็จการศึกษาแพทย์ และ ทันตแพทย์ เป็นข้าราชการ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมีบุคคลสำคัญในแวดวงสาธารณสุขทัดทานไว้ ต่างจากกรณีของกระทรวงศึกษาธิการที่บรรดาบุคคลสำคัญด้านการศึกษาที่ยังรับราชการอยู่ต่างนิ่งเงียบและบางรายกลับออกมาสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล อาจเป็นเพราะเกรงกลัวอำนาจทางการเมือง ตนจึงขอเรียกร้องให้ครูทั้งแผ่นดินแสดงพลังออกมาคัดค้านมิให้ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และให้นำกลับมาพิจารณาใหม่โดยมีบุคลากรวิชาชีพครูมีส่วนร่วมในการพิจารณา
“ผมขอเรียกร้องให้ครูทุกสังกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้บริหารและครูโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ปัจจุบันยังนิ่งเฉย ต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกันแสดงพลังคัดค้าน และขอฝากไปยังบรรดาองค์กรต่างๆที่แสดงท่าทีในการสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่รัฐสภา ให้ทบทวนบทบาทขององค์กรเสียใหม่เพราะหากบุคคลากรวิชาชีพครูต้องถูกด้อยค่า ต้องพ้นจากความเป็นข้าราชการ สูญเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ จะกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูอันจะส่งผลเสียต่อคุณภาพการจัดการศึกษา แล้ว ท่านหรือองค์กรนั้นๆจะรับผิดชอบไหวหรือไม่! ขนาดวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ยังโดนมาแล้ว วิชาชีพครูก็คงไม่พ้นที่จะพ้นจากความเป็นข้าราชการ” นายรัชชัยย์ ฯ กล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ กรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย(คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา