นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ออกมาแถลงข่าวโดยมีสาระสำคัญว่า “ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในเรื่องร่าง วาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ โดยเห็นว่าช่องทางที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือให้มีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรที่จะนำข้อคิดเห็นเข้าไปอภิปรายรัฐสภา ส่วนในเรื่องที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรหรือไม่นั้น อยู่ที่กฎหมายลูก และท่านยังมีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า เขตพื้นที่ยังมีอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ได้ยินใครที่จะไม่ให้มีเขตพื้นที่” นั้น เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ เปิดเผยว่าจากการติดตามการทำงานของ ดร.อัมพร พินะสา นั้นพบว่าเป็นนักบริหารที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและสร้างคุณูปการให้กับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายประการ ความคิดเห็นใดๆของท่านจึงน่าจะเป็นไปโดยเจตนาบริสุทธิ ตนเคารพในความคิดเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามตนได้พิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับดังกล่าวแล้วเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ควรต้องถอนออกมาพิจารณาเสียใหม่ก่อน โดยอาศัยเหตุผลดังนี้
๑. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... นี้ เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีครูหรือผู้บริหารโรงเรียนมีส่วนร่วมในการร่างหรือนำเสนอข้อมูลแต่อย่างใด
๒. เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่เพียงไม่ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้นแต่ยังอาจจะไม่มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่มีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อีกด้วย ทั้งนี้พิเคราะห์จาก หมวดที่ ๕ มาตรา ๓๔ ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันได้กำหนดโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการไว้โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ฯลฯ แต่ มาตรา ๓ ของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯกำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมหมายถึงว่าหากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นการยกเลิกส่วนราชการระดับกรมทั้งหมด และในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดไว้ในมาตรา ๙๖ ให้มีส่วนราชการระดับกรมไว้เพียงกรมเดียวเท่านั้นคือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
๓. มาตรา ๑๐๖ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า “ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ” กรณีนี้ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าไม่มีส่วนราชการระดับกรมอื่นๆอีก ไม่มี สพฐ ไม่มีอาชีวศึกษา
๔. มาตรา ๔ ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดนิยามศัพท์ของคำว่า “ผู้บริหารสถานศึกษา” ซี่งหมายถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... มิได้มีนิยามศัพท์คำว่า “ผู้บริหารการศึกษา” แต่อย่างใด ซึ่งย่อมหมายถึงไม่มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อีกแล้ว
๕. มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ และมาตรา ๑๐๙ ได้บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า “ให้ผู้อำนวยการ ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป...............” แต่ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯนี้ ไม่ได้กำหนดไว้เกี่ยวกับผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าจะไม่มีตำแหน่งนี้อีกต่อไป
จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าน่าจะมีการยุบเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนราชการระดับกรมอื่นๆ
“การที่นายอัมพร พินะสา ยืนยันว่าไม่เคยได้ยินจากผู้มีอำนาจว่าจะยุบเขตพื้นที่การศึกษา นั้น ผมเชื่อว่าท่านไม่เคยได้ยินมาจริงๆ แต่ที่ท่านไม่ได้ยินมาก็คงเพราะผู้มีอำนาจมีเจตนาปกปิดไม่ให้ใครรับทราบเนื่องจากเกรงว่าจะแตกตื่นและเกิดแรงต้าน และหากร่าง พรบ การศึกษาฯฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล สาระสำคัญต่างๆเป็นความต้องการของรัฐบาล เสียงของรัฐบาลรวมกับเสียงของวุฒิสมาชิกย่อมทำให้กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาแน่นอน จึงเห็นควรให้ถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาเสียก่อนแล้วพิจารณาใหม่โดยให้มีผู้แทนครูไปร่วมพิจารณาด้วย ” นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา