รมว.ศึกษาธิการ ถก รมว.คลัง วางแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู หลังนายกฯ สั่งเป็นนโยบายให้คิดมาตรการที่ตกผลึกอย่างเป็นรูปธรรม เผย ในอนาคตครูรุ่นใหม่จะต้องเติมความรู้เรื่องวินัยการเงิน เพื่อไม่ให้ก่อหนี้ซ้ำซ้อนอีก
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งจะดำเนินการวางแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการทำงานของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่อยากจะแก้ไขปัญหาหนี้ครูให้ได้ เพราะได้มอบเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหามาให้ ศธ.ดำเนินการกว่า 2 ปีแล้ว ดังนั้นตนจะมาดูว่ามาตรการการแก้หนี้ครูของ ศธ.ที่เคยดำเนินการไว้ 5 รูปแบบนั้นจะมีความเป็นไปได้ในรูปแบบใดได้บ้าง ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจะต้องมาหารือร่วมกันระหว่าง ศธ.และคณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรีว่าในที่สุดแล้วการแก้ไขหนี้ครูจะตกผลึกแนวทางใด โดยเท่าที่ดูจากการรวบรวมแหล่งเงินกู้ของครูพบว่า ส่วนใหญ่ครูมีหนี้สินที่กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและธนาคารออมสิน และยังเป็นการกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ยังพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็ไปกู้เงินจากธนาคารมาปล่อยกู้ให้แก่ครูอีกทอดหนึ่งด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ครูได้ชำหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือการรวมหนี้ครูมาไว้สถาบันการเงินแหล่งเดียว พร้อมกับหามาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ของครูให้ได้มากที่สุด
ด้านนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ.ในการประชุมแก้ไขปัญหาหนี้ครู ซึ่งที่ประชุมมองว่าหนี้ครูที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดบ้าง เพราะเมื่อพูดถึงหนี้ครูเราจะมองเฉพาะมุมของครูอย่างเดียวว่าเกิดจากวินัยการใช้เงิน แต่ตนกลับมองอีกมิติหนึ่งในฐานะของเจ้าหนี้ด้วยว่ามีความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้กู้ด้วย เช่น หลักเกณฑ์การกู้เงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องมาดูว่าเรื่องใดที่ปรับเปลี่ยนและเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้บ้าง รวมถึงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องแบ่งกลุ่มครูที่เป็นหนี้ตั้งแต่ระดับหนี้ระดับวิกฤตมาก ปานกลาง และครูที่ยังมีสภาพคล่องในการผ่อนชำระหนี้ได้ เพื่อดูว่าจะมีมาตรการใดที่จะช่วยเหลือครูในกลุ่มต่างๆ อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเงินฝากประจำจากกองทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นเงินเก็บให้นำมาตัดเป็นเงินต้นได้หรือไม่
“นอกจากนี้เราวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูไปถึงอนาคต เพราะไม่อยากให้ครูรุ่นใหม่เข้ามาติดกับดักวงจรการเป็นหนี้อีก เนื่องจากอาจสร้างความกังวล เครียด จนทำให้จัดการเรียนการสอนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงคิดว่าหากใครที่จะสอบบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย เราจะมีวิชาหรือการอบรมพัฒนาความรู้สร้างวินัยการบริหารใช้จ่ายเงิน เพื่อเป็นการป้องกันครูรุ่นใหม่ไม่ให้ไปก่อหนี้อีก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และคิดว่าคงใช้เวลาการดำเนินการไม่นาน เพราะคณะทำงานที่ตั้งขึ้นก็เป็นคณะทำงานชุดเดิมที่ทำเรื่องหนี้ครูไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และนำเสนอให้นายกฯ พิจารณาต่อไป” ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564