ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 6/2564 ในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีมติที่สำคัญ คือ
เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) โดยมีผลใช้บังคับทันที ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ที่กำหนดไว้เดิม ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ปัจจุบัน ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะทางการบริหารที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนนโยบาย
สู่การปฏิบัติ สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่และคงความเป็นอัตลักษณ์ของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ไว้ จึงได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าวโดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ได้ ดังนี้
การคัดเลือก กำหนดเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มทั่วไป
คุณสมบัติ
1. ปัจจุบันต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่สมัคร เข้ารับการคัดเลือก
2. มีคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่งฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
หลักสูตรการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
- ภาค ก ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ (คะแนน 200 คะแนน)
- ภาค ข ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (วิสัยทัศน์ และการสัมภาษณ์) (คะแนน 100 คะแนน)
เกณฑ์การตัดสิน
- ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ข ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
- ผู้ได้รับการคัดเลือก ต้องมีคะแนนรวม ภาค ก และภาค ข ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
2. กลุ่มประสบการณ์
คุณสมบัติ กำหนดเช่นเดียวกับข้อ 1 และข้อ 2 ของกลุ่มทั่วไป
นอกจากคุณสมบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก หรือเป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือเคยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานการศึกษาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
หลักสูตรการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
- ภาค ก กำหนดเช่นเดียวกับกลุ่มทั่วไป
- ภาค ข ประเมินความสามารถทางการบริหารและความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ประวัติและประสบการณ์ฯ ผลงาน วิสัยทัศน์ และการสัมภาษณ์) (คะแนน 100 คะแนน)
เกณฑ์การตัดสิน
กำหนดให้การประเมิน ภาค ก ให้ค่าน้ำหนักเป็นร้อยละ 40 ของคะแนนเต็ม (200 คะแนน) และการประเมินภาค ข ให้ค่าน้ำหนักเป็นร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม (100 คะแนน) โดยผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนน ภาค ก และ คะแนนภาค ข รวมกัน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
การบรรจุและแต่งตั้ง
1. ให้บรรจุและแต่งตั้งตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร
2. เมื่อบรรจุครบตามจำนวนตำแหน่งว่างแล้ว หากมีตำแหน่งว่างภายหลังให้บรรจุและแต่งตั้ง โดยเริ่มจากบัญชีกลุ่มประสบการณ์ก่อนแล้วสลับกลุ่มต่อเนื่องกันไป การพัฒนาผู้ได้รับการบรรจุให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด โดยความเห็นชอบ อ.ก.ค.ศ. สป. ซึ่งผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีเงื่อนไขว่า ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรง และมีผลการประเมินสัมฤทธิผล ทั้ง 2 ครั้ง ผ่านเกณฑ์ ต้องอยู่ปฏิบัติงานในหน้าที่ ในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต่อไปอีกเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่มีผลการประเมินสัมฤทธิผลผ่านเกณฑ์ เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จึงจะเปลี่ยนตำแหน่ง ย้าย หรือโอนออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ได้
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้ง 2 กลุ่ม ให้เลือกสมัครได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นหากปรากฏว่าผู้สมัคร สมัครทั้ง 2 กลุ่ม จะตัดสิทธิ์การสมัครคัดเลือกทั้งหมด โดยผู้สมัครฯ ที่ปฏิบัติงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) ให้นับระยะเวลาทวีคูณในการคำนวณระยะเวลาการดำรงตำแหน่งได้ และสำหรับการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ขึ้นบัญชีเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.