นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู (คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ในฐานะเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร นั้น ตนเห็นว่าข้าราชการครูทุกคนต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาก่อนเนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อคุณภาพการศึกษาและยังจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตครู ดังนี้
ข้อ ๑ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาให้ผู้มีอำนาจในอนาคตสามารถเปลี่ยนสถานะข้าราชการครูในปัจจุบันให้เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยพิจารณาจาก มาตรา ๓๕ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ฉบับนี้ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสถานะและได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ มีความโปร่งใสในการรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นธรรมและได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมตลอดทั้งหลักประกันในการที่ครูจะสามารถดำรงตนและปฏิบัติหน้าที่ตามาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” เมื่อพิเคราะห์จากสาระของมาตรานี้แล้วเห็นว่ามาตรานี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ข้าราชการครู” แต่ใช้เพียงคำว่า “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากข้าราชการครูที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสถานะอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ โดยให้มีหลักประกันความเป็นข้าราชการ ซึ่งย่อมหมายถึงการไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่อาจเป็นพนักงานโรงเรียน เหมือนมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่ไม่มีข้าราชการแล้วแต่ให้มีพนักงานมหาวิทยาลัยโดยจะต้องได้รับการประเมินทุกสองหรือสามปี ถ้าประเมินไม่ผ่านก็จะถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่าในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯ ฉบับดังกล่าวได้บัญญัติศัพท์หรือนิยามศัพท์ว่า “ข้าราชการครู” แม้แต่มาตราเดียว ในขณะที่มาตรา 55 และมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันใช้คำว่าข้าราชการครู แยกต่างหากจากคำว่าพนักงานของรัฐในสถานศึกษา และครูโรงเรียนเอกชน อีกทั้งร่างกฎหมายนี้ก็มิได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้ข้าราชการครูที่เป็นอยู่แล้วให้ยังคงเป็นอยู่ต่อไป การบัญญัติให้ผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะของข้าราชการครูไปเป็นอย่างอื่นนั้นจะส่งผลเสียหายและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของข้าราชการครูเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากข้าราชการครูปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจอาจถูกเลิกจ้างได้อย่างไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือจะทำให้ไม่มีการสร้างแรงจูงใจให้คนเรียนเก่งมาประกอบวิชาชีพครูอันจะทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
๒. ข้าราชการครูในสถานศึกษาของรัฐอาจอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายทุน พ่อค้าหรือเอกชน โดย มาตรา ๑๑ (๕) บัญญัติไว้ว่า “รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ และมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและอุดหนุนการจัดการศึกษาตาม (๑) (๒) (๓)และ (๔) ในการจัดการศึกษาดังกล่าวรัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้” การบัญญัติเช่นนี้ให้อำนาจรัฐสามารถใช้อำนาจดุลพินิจให้เอกชนเข้าบริหารจัดการสถานศึกษาของรัฐโดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งข้าราชการครูก็ถือว่าเป็นทรัพยากรของรัฐ
๓. หน่วยงานระดับกรมต่างๆและเขตพื้นที่การศึกษาจะถูกยุบ เช่นสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ฯลฯ เป็นต้นทั้งนี้เพราะ
๓.๑ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ได้กำหนดโครงสร้างส่วนราชการระดับกรมไว้ในมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดโครงสร้างของหน่วยงานระดับกรมไว้ และมาตรา ๒ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าวได้บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
๓.๒ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้มีนิยามศัพท์ “ผู้บริหารการศึกษา” แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ ไม่มีนิยามศัพท์คำว่า “ผู้บริหารการศึกษา”แต่อย่างใด จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีการยุบเขตพื้นที่การศึกษา
๓.๓ มาตรา ๑๐๖ แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า “ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ .......” เมื่อพิเคราะห์จากการใช้ถ้อยคำเห็นว่าคำว่ากระทรวงศึกษาธิการย่อมหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีอำนาจเสนอให้มีหน่วยงานทางการศึกษาระดับสำนักงานภายในกระทรวงศึกษาธิการได้แต่ไม่มีมีอำนาจในการเสนอให้มีหน่วยงานระดับกรม
๓.๔ มาตรา ๑๐๖ แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าวบัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า “...ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ....” บทบัญญัติเช่นนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าไม่มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ค่อนข้างชัดเจน โดยที่น่าจะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทุกจังหวัดเพราะถือว่าเป็นตัวแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓.๕ ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ได้บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า”ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” มีข้อสังเกตคือร่างกฎหมายนี้ไม่มีการพูดถึงผู้บริหารการศึกษาซึ่งหมายถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจะมีการยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แน่นอน
ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคือไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาแต่ละด้านทั้งด้านการประถมศึกษา การมัธยมศึกษา และการอาชีวศึกษา ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังจะมีปัญหาว่าจะให้บรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และบรรดารองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปวางไว้ที่หน่วยงานใด การกำหนดเช่นนี้เป็นการรวมอำนาจสู่ส่วนกลางผิดหลักการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ จึงขอเชิญชวนข้าราชการครูร่วมแรงร่วมใจกันเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ออกไปก่อนแล้วให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายการศึกษาขึ้นใหม่โดยให้ข้าราชการครูมีส่วนร่วมในการร่างด้วย
“ผมขอเรียกร้องให้ข้าราชการครูซึ่งมีจำนวนมากกว่าแปดแสนคน คู่สมรสของข้าราชการครูหรือคนใกล้ชิดที่มีจำนวนมากกว่าแปดแสนคนและลูกศิษย์ของข้าราชการครูอีกหลายแสนคน พร้อมใจกันจับมือให้แน่น ติดตามดูว่าพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย แล้วให้บทเรียนที่สำคัญเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป” นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู (คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย