นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่าน ตนได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในพื้นที่สีส้มจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น รวมถึงได้รับรายงานสถานการณ์ของทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ทุกวัน พบว่า ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ทั้งของรัฐ และเอกชน ทุกแห่งได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติการเปิดภาคเรียนที่ 1/ 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่สีส้มที่ประสงค์สอนในรูปแบบ On Site คือ จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop COVID + (TSC+) ของกระทรวงสาธารณสุขครบทั้ง 44 ข้อ เมื่อเปิดเรียนแล้วนักเรียนและผู้ปกครอง ก็ต้องประเมินความเสี่ยงคัดกรองตัวเอง โดยใช้แอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากประเมินเสร็จแล้ว แอปฯ จะบอกชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มไหน ถ้าอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือเสี่ยงมาก ก็ไม่ควรออกไปพบปะผู้อื่น
ขณะเดียวกันทางสถานศึกษาก็มีการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ มีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้ทุกคนสวมหน้ากาวอนามัย เว้นระยะห่างในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก็ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนและครู โดยได้ร่วมกับทางโรงเรียนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในทุกโรงเรียน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็มีข้อมูลและมาตรการเป็นรายพื้นที่ รายโรงเรียน หากเกิดเหตุพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ก็สามารถสั่งการได้ทันที
“การเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นี้ มีความยืดหยุ่นมาก สถานศึกษาแต่ละแห่งดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยยึดสภาพจริงตามสถานการณ์เป็นหลัก โรงเรียนสามารถเลือกใช้วิธีการสอนรูปแบบใดก็ได้ที่เหมาะสม รวมถึงหากมีความจำเป็นก็สามารถเปลี่ยนจากการเรียนที่โรงเรียน เป็นการเรียนในรูปแบบอื่นทดแทนได้ "
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ความต้องการของผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียนมีไม่เหมือนกัน แม้อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ชั้นเรียนเดียวกันก็ต้องการไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองบางคนไม่มีเวลาดูแลลูกหลานอยากให้มาเรียนที่โรงเรียน และมีความมั่นใจในมาตรการของโรงเรียน จึงส่งลูกหลานมาโรงเรียนตามปกติ แต่ก็มีผู้ปกครองบางส่วนไม่มั่นใจ ทางโรงเรียนก็ได้จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามแนวทางที่สะดวก เช่น การเรียน On Line ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ การเรียน On Hand โดยจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือ ใบงาน ไปให้นักเรียนเรียนที่บ้าน ซึ่งต้องขอขอบคุณคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา ที่เสียสละ และปรับตัวจัดการเรียนการสอนอย่างยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี
"อย่างไรก็ตามดิฉันได้เน้นย้ำตลอดว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรเด็กทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ เราต้องจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การ์ดต้องไม่ตก" นางสาวตรรีนุชกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564