ประธานบอร์ดกพฐ. ถก รับมือเปิดเรียน 14 มิ.ย.ยึดการเรียน 5 รูปแบบตามสภาพพื้นที่การควบคุมของศบค.จังหวัด แนะ ประสานกสทช.สำรวจความต้องการนักเรียนขอทีวีให้เด็กเรียนผ่านช่องดีแอลทีวี
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งจะมีการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ โดยการเปิดภาคเรียนดังกล่าวจะยึดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการเรียน On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค. On-air เรียนผ่าน DLTV On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร แต่ในพื้นที่สีแดงเข้มจะไม่สามารถจัดการเรียนแบบ On-site ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการเรียนดังกล่าวให้เหมะสมกับสภาพพื้นที่ตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดกำหนด
ประธานกพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนที่เรียนผ่านรูปแบบ On-air ของโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมนั้นที่ประชุมมีข้อเสนอให้ใช้เงินจากกองทุนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของศธ.มาช่วยดำเนินการ เพราะบางครอบครัวอาจมีโทรทัศน์หรือมีลูกเรียนคนละชั้น รวมถึงการขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสรรโทรทัศน์ให้แก่นักเรียนด้วยการสำรวจความต้องการของนักเรียนว่าต้องการจำนวนโทรทัศน์กี่เครื่องถึงเพียงพอต่อการเรียนในรูปแบบ On-air นอกจากนี้อยากให้การเรียนในรูปแบบ On-line ได้ให้เด็กโรงเรียนอื่นๆได้เข้ามาร่วมเรียนกับห้องเรียนของโรงเรียนดังๆด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็ก รวมถึงการเรียนใน 5 รูปแบบดังกล่าวจะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้วยว่ารูปแบบใดตอบโจทย์การเรียนของเด็กมากที่สุด เพื่อจะได้ส่งเสริมการเรียนรูปแบบนั้นได้อย่างเต็มที่
“สำหรับการวัดและประเมินในการเรียนยุคโควิดจะมีวิธีการอย่างไรนั้น ผมเห็นว่าเราไม่ควรมองที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน แต่ให้มองวิธีการจัดการเรียนการสอนมากกว่าว่าเด็กได้รับประโยชน์จากการเรียนใน 5 รูปแบบใดมากที่สุด ซึ่งครูต้องมีการปรับวิธีการของสอนรูปแบบใหม่ๆด้วย เพราะแม้จะหมดวิกฤตโควิดไปแล้ว แต่เชื่อว่ารูปแบบการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้การวัดและประเมินผลหากเลื่อนชั้นอัตโนมัตินั้น ผมมองว่าจะต้องให้ครูผู้สอนเลื่อนสอนตามเด็กไปด้วย เช่น เด็กป.1 เลื่อนชั้นขึ้นป.2 ครูที่สอนเด็กป.1 จะต้องเลื่อนสอนตามเด็กคนเดิมไปด้วย เพราะครูผู้สอนจะรู้ว่าเด็กของตัวเองเก่งหรือด้อยจุดไหน เป็นต้น” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564