เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ของกระทรวงศึกษาธิการ รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับดังกล่าวได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
3. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
4. ให้กระทรวงศึกษาธิการได้รับยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 (เรื่อง การปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค) สำหรับการดำเนินการเมื่อมีการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้แล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และต่อมาได้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (25 พฤษภาคม 2564) ในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้วิชาชีพครู เป็น “วิชาชีพชั้นสูง” แก้ไขคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น “ผู้บริหารสถานศึกษา” และแก้ไขคำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต
สำหรับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขถ้อยคำร่างพระราชบัญญัติให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี (25 พฤษภาคม 2564) โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวสอดคล้องกับหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งตามมาตรา 270 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
โดยที่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ได้มีการยกสถานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการขอจัดตั้งส่วนราชการดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง และสำนักงาน ก.พ.ร. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้บรรลุผล และเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับหลักการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ …. ไปพร้อมกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วนงานของรัฐ)
Advertisement
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
1.1 หมวด 1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา โดยมุ่งเน้นในการดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามช่วงวัย ความรู้ทางวิชาการหรือทักษะเฉพาะทาง ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และกระตุ้นให้บุคคลทุกช่วงวัยแสวงหาความรู้เพิ่มเติมหรือความรู้อื่นใดที่ตนสนใจ กำหนดหน้าที่หรือสิทธิของรัฐ เอกชนและบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา กำหนดพื้นฐานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐที่มุ่งเน้นความเป็นอิสระและคล่องตัวตามความพร้อมและศักยภาพของแต่ละสถานศึกษา กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาของเอกชน แนวทางการอุดหนุนภาคเอกชนในการจัดการศึกษาและการเข้าร่วมเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ กำหนดให้มีการรวมตัวของเอกชนในระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการจัดการศึกษาและการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ
1.2 หมวด 2 สถานศึกษา กำหนดระบบนิเวศของสถานศึกษาของรัฐ ได้แก่ สภาพและสิ่งแวดล้อมและสภาวะที่ปลอดภัย มีสถานที่ อุปกรณ์ในการศึกษา ครูและบุคลากรอื่น กำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาและสถานศึกษาของรัฐ และจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต กำหนดวิธีการรับผู้เรียนในสถานศึกษาของรัฐให้มีความหลากหลาย กำหนดให้การบริหารและจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระ และกำหนดให้จัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาของรัฐโดยให้จัดสรรให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดรายได้ของสถานศึกษาของรัฐ และการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา
1.3 หมวด 3 ครูและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา กำหนดให้ปรับเปลี่ยนบทบาทของครู “ให้เป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้” กำหนดคุณสมบัติทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะครูให้สอดคล้องการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนแต่ละช่วงวัย กำหนดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการและวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในการผลิตครูซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดทั้งวิธีการในการพัฒนาศักยภาพครูให้สูงขึ้นและทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่มีความยืดหยุ่น และเปิดกว้างเพื่อเอื้อให้บุคคลที่ไม่ได้จบการศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กำหนดให้มีการพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรอื่นทางการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถและสมรรถนะเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้มีระบบการติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลครูและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา
1.4 หมวด 4 การจัดการศึกษา กำหนดระบบการจัดการศึกษาสอดคล้องตามความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และกำหนดให้มีระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะ รวมทั้งให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน หรือกระตุ้นให้เกิดการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต กำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการมีหน้าที่และอำนาจในการสนับสนุนด้านวิชาการให้กับสถานศึกษาทุกสังกัด กำหนดแนวทางในการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก กำหนดการประเมินการเรียนรู้ให้เน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ต่อเป้าหมายของผู้เรียน
1.5 หมวด 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ กำหนดหลักการการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกำหนดให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้การจัดการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ โดยไม่ต่อเนื่องหรือบูรณาการกัน และไม่ทำให้สถานศึกษาขาดอิสระในการจัดการศึกษา กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดการศึกษา หรือเอกชนซึ่งมีสิทธิในการจัดการศึกษา ต้องดำเนินการจัดการศึกษาให้ได้ผลตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดได้ และกำหนดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการบริหารจัดการข้อมูลสนเทศทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา
1.6 หมวด 6 แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยกำหนดกรอบสาระและแนวทางการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของแผนการศึกษาแห่งชาติทุก 5 ปี กำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนการศึกษาแห่งชาติรายปีเป็นระยะเวลาทุก 4 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำคำของบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และจัดทำรายงานสรุปผลให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และให้เสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
1.7 หมวด 7 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และจัดให้มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง กำหนดมาตรการที่จะให้หน่วยงานของรัฐชี้ชวน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ตลอดทั้งอำนวยความสะดวก ประสานงาน ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ….
2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
2.2 กำหนดรูปแบบการส่งเสริมการเรียนออกเป็นสามรูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ และกำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้มีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจประกาศกำหนดให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
2.3 กำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้บุคคลสามารถเรียนรู้ และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้องดำเนินการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพ ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความถนัดของตนเอง การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิ เพื่อเป็นการจัดการเรียนรู้ ให้แก่ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.4 กำหนดให้หน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยออกเป็นประกาศนียบัตร วุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองความรู้ นอกจากนี้ กำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้องจัดให้มีระบบการเทียบระดับการศึกษา เทียบเคียง หรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะ
2.5 กำหนดหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้ต้องจัดให้มีส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาหลักสูตร โปรแกรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ จัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ
2.6 กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดเพื่อกำกับดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกและแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ และกำหนดให้มีหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเพื่อกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกและแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ เกี่ยวกับด้านวิชาการ เทคโนโลยีที่จำเป็นในการส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เป็นไปตามแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด
2.7 กำหนดให้เปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเดิมสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2.8 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพัน รวมทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลัง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเดิมสังกัดในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ และให้ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น และให้มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ และประโยชน์ตอบแทนอื่นไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม
เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน รมว.ศธ.
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
1. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
2. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 มิถุนายน 2564