ศธ.แจ้งสถานศึกษาเปิดเรียนวันที่ 1 มิ.ย.12,571 แห่ง
ปลัด ศธ.แจงแนวปฏิบัติ ศธ.เรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ยันไม่ใช่ลดค่าเทอม แต่เป็นการงดเก็บค่ากิจกรรมอื่นที่ไม่ได้เรียนในช่วงการเรียนออนไลน์ เช่น ว่ายน้ำ เป็นต้น ด้าน สพฐ. รายงานตัวเลขสถานศึกษาเปิดเรียนวันที่ 1 มิ.ย. จำนวน 12,571 แห่ง
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ. ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการ Work Form Home สำหรับสถานที่ราชการในสังกัด ศธ.ให้จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานไม่เกิน 10% ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ให้จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงานตามความเหมาะสมไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ.นั้นจะรวมไปถึงครูสอนภาษาชาวต่างประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้มีครูได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วหลายหมื่นคน โดยในวันที่ 7 มิ.ย.จะถือเป็นการเริ่มคิกออฟการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่ง กทม.จะจัดให้ไปฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ ขณะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อและจัดตารางแบ่งการฉีดวัคซีน เพื่อลดการแออัดรวมตัวจำนวนมาก เพื่อส่งให้ ศบค.จังหวัดไปดำเนินการต่อไป
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการประกาศแนวปฏิบัติประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้วนั้น เป็นการประกาศภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งสถานศึกษาและผู้ปกครองจะต้องไปทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น ค่ากิจกรรมเรียนว่ายน้ำ เรียนพิเศษเสริม ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เป็นต้น โดยค่ากิจกรรมเหล่านี้หากไม่ได้จัดการเรียนการสอนจริงก็ต้องคืนค่าธรรมเนียมส่วนนี้ให้แก่ผู้ปกครอง
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานสถานศึกษาที่เปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 1 มิ.ย.จำนวนทั้งสิ้น 12,571 แห่ง แบ่งเป็นการเรียนแบบ Onsite จำนวน 5,865 แห่ง Onair 2,377 แห่ง ondemand 2,187 แห่ง online 2,926 แห่ง และ onhand 8,603 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิ.ย.จำนวน 15,956 แห่ง และเปิดเรียนระหว่างวันที่ 2-13 มิ.ย.จำนวน 171 แห่ง ส่วนโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนในพื้นที่สูง ที่มีนักเรียนทั้งหมด 28,000 คน ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลเรื่องมาตรการด้านสุขภาพนักเรียน สำหรับแนวประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในส่วนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น เรามีการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่น ห้องเรียน English Progarm เป็นต้น โดย สพฐ.ได้กำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมให้คณะกรรมการสถานศึกษา และเขตพื้นที่เป็นผู้กำหนดในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนใดที่ไม่มีความเป็นก็ควรหาวิธีลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง แต่ต้องอยู่ภายใต้ความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ เพราะการเสียค่าใช้จ่ายให้แก่โรงเรียนส่วนใหญ่ ผู้ปกครองจ่ายด้วยความสมัครใจที่อยากให้บุตรหลานของตัวเองได้เรียนอย่างมีคุณภาพ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564