รมว.ศธ.ถก บอร์ดคุรุสภา ปรับแนวทางการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หลังพบ ข้อร้องเรียนในการสอบ เผย เพื่อให้การสอบครั้งต่อไปในเดือน ต.ค.เป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ที่มีผู้เข้ารับการทดสอบ จำนวน 7,263 คน ใน 5 หมวดวิชา คือ 1.หมวดทักษะภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2.หมวดทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.หมวดทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อการศึกษา 4.หมวดความรู้ทางวิชาชีพครูและ 5.หมวดความรู้วิชาเอก ซึ่งในจำนวนนี้แยกเป็น หมวดวิชาพื้นฐาน คือ ทักษะภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และหมวดความรู้ทางวิชาชีพครู มีผู้ผ่านการทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 57 ส่วนหมวดความรู้วิชาเอก มีผู้ผ่านการทดสอบ ร้อยละ 47.9 โดยภาพรวมของผู้ผ่านการทดสอบมีประมาณ 700 คนนั้น เรื่องนี้ตนได้รับทราบข้อมูลว่ามีกลุ่มผู้สมัครสอบจำนวนหนึ่งไปร้องศาลปกครองถึงมาตรฐานการสอบดังกล่าว เช่น กระบวนการของข้อสอบมีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราคงมองข้ามไปไม่ได้ ซึ่งคุรุสภาจะไปหาแนวทางว่าจะดำเนินการปรับแก้ไขอะไรได้บ้าง ซึ่ง ศธ.พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ เพราะการทดสอบของหมวดต่างๆ ได้สะท้อนเรื่องความเป็นครูได้จริงหรือไม่ โดยตนมั่นใจว่าหลักการของการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นหลักการที่ดี แต่เมื่อการทดสอบครั้งแรกกลับมีผู้ผ่านการทดสอบในจำนวนน้อยเราก็ต้องมาทบทวนว่าอุปสรรคอะไรหรือไม่ เพื่อให้การทดสอบครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค.นี้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะต้องรักษามาตรฐานวิชาชีพครูไว้อย่างเข้มข้นด้วย ส่วนจะมีการปรับลดเนื้อหาวิชาการสอบลงหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังเป็นข้อคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งคงต้องมาหารือเพื่อหาจุดตรงกลางที่เหมาะสมที่สุด
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง การอนุญาตให้บุคคลประกอบวิชาชีพควบคุมโดยไม่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว พ.ศ. ... ด้วย เนื่องจากเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั่วคราวยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น จะให้มีการอนุญาตต่อชั่วคราวไปได้เรื่อยๆ หรือต้องมาดูว่าจะต้องทำมาตรฐานการต่อให้เข้มข้นมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่คุรุสภาจะต้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องนี้แล้ว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564