นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จำนวน 11 คณะ เพื่อทดแทนคณะ อ.ก.ค.ศ.ชุดเดิมที่หมดวาระไป และที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ ก.ค.ศ.ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ประเมินผู้ขอรับการประเมินวิทยฐานะ พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานวิทยฐานะ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีอำนาจและหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเสนอแนะนโยบาย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีนโยบายเร่งด่วนในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะใหม่การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะ ควบคู่กับระบบการประเมินเงินเดือน การปรับระบบการพัฒนาผู้บริหารก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง การกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง การวางแผนการผลิตและระบบคัดกรองครูที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ที่จะเกิดขึ้นนี้
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของ ก.ค.ศ. จากสถาบันหรือหน่วยงานทางวิชาการที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากสังคม และตนเชื่อว่าจะทำให้การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งการผลิตและพัฒนาครู จะตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และจะมีการจัดทำแผนเชิงรุกให้เห็นภาพและสามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงได้ และการพัฒนาครูให้สอดคล้องกับรูปแบบของหลักสูตรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมการผลิตครู
"นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติอนุมัติย้ายและแต่งตั้ง การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 4 ราย และบรรจุ แต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพท. ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สังกัด สพฐ. จำนวน 2 ราย"รมว.ศธ.กล่าว
ด้านานประวิต เอราวรรณ เลขาฯ ก.ค.ศ. กล่าวว่า กรรลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เราต้องการที่จะเตรียมความพร้อม เรื่อง การผลิตและการใช้ครู เพื่อให้สอดคล้องกับ้กณฑ์อัตรากำลังใหม่ที่ ก.ค.ศ.กำหนด และเน้นเรื่องคุณภาพการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น และความร่วมมือในครั้งนี้ ก.ค.ศ.ยังมีความต้องการอาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้ามาพัฒนา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินวิทยฐานะใหม่ เนื่องจาก ก.ค.ศ.ต้องการที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการประเมินโดยที่เน้นสมรรถนะมากขึ้น ไม่ใช่การประเมินแบบเอกสารวิชาการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิด ส่วนความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จะเน้นการสนับสนุนเรื่อง งานวิจัย งานวิชาการ การบริหารงานบุคคล และ รมว.ศธ.ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรที่จะเน้นการวิจัยเชิงอนาคตด้วย ว่า ภาพที่จะเปลี่ยนไปของวิชาชีพครูควรจะเป็นอย่างไร และควรจะเตรียมการผลิตอย่างไร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564