“เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.)”
บทเรียนที่มีคุณค่าต่อการจดจำ กรณีศึกษา “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ”
เมื่อไรก็ตามที่ได้ทราบข่าวว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... เข้าสู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะในขั้นตอนใด พวกเราครูไทยก็จะใส่ใจที่จะขอรู้ขอทราบว่าเป็นร่างกฎหมายของใครหน่วยงานใดเป็นผู้ร่าง เพราะพวกเราเคยผิดหวัง ตกใจ กังวลใจกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....มาแล้ว เนื่องเพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ฉบับที่ร่างโดย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นั้น เป็นร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญหลายประการที่เป็นการด้อยค่าผู้ประกอบวิชาชีพครู ลดทอนสิทธิประโยชน์ของครู แม้ว่ามีบางส่วนที่เป็นสิ่งดีดีบ้างก็ตาม เมื่อพวกเราตรวจพบก็ได้แสดงพลังต่อสู้ คัดค้านจนร่างกฎหมายดังกล่าวไปต่อไม่ได้
รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ อดีตประธานสภาคณบดี คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญชวนพวกเราหลายคนไปร่วมกันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....โดยให้ถือว่าเป็นร่างกฎหมายการศึกษาฉบับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเราพิจารณาแล้วเห็นว่าการร่างกฎหมายการศึกษาที่นำทีมโดย รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยว่ามีปัญหาอะไรและต้นเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้น เป็นต้นเหตุของปัญหาสำคัญอะไรหรือไม่อย่างไร พวกเราหลายคนเห็นว่าหลักคิดในการร่างกฎหมายการศึกษานี้มีความเหมาะสม ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ
ผู้นำทีมในการร่างกฎหมายนี้ก็เป็นอาจารย์ผู้สอนและเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามาครึ่งค่อนชีวิต ที่สำคัญคือมีการนำเอา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาเป็นรากฐานในการปรับปรุงและไม่มุ่งหวังผลใดๆในทางการเมือง พวกเราหลายคนจึงได้ไปเป็นคณะทำงานร่างกฎหมายให้กับ รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ
ในระหว่างดำเนินการนั้น มีกลุ่มบุคคลอีกคณะหนึ่งคือ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) ได้ประสานขอร่างกฎหมายที่พวกเราช่วยกันทำจนแล้วเสร็จ เพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณาผสมผสานกับร่างกฎหมายที่มีการเรียกขานว่าเป็นร่างกฎหมายภาคประชาชน เพื่อเสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมาย พวกเราเห็นรายชื่อสมาชิกที่สำคัญของ สคคท ซึ่งประกอบไปด้วย ดร.ดิเรก พรสีมา เป็นประธาน และยังมีกลุ่มบุคคลที่เป็นคนสำคัญในบางองค์กรและเคยเป็นครูมาก่อนร่วมอยู่ด้วย พวกเราก็วางใจจัดส่งร่างกฎหมายที่พวกเราช่วยกันทำเสร็จแล้วให้คณะดังกล่าวไป
ต่อมาได้ทราบว่า ร่างกฎหมายที่เรียกขานกันว่าร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ผลักดันโดย สคคท เป็นร่างกฎหมายที่หยิบยกเอาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่ร่างโดย กอปศ มาเป็นต้นแบบ พวกเราก็เริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญหลายประการที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติในอนาคตและยังเป็นร่างกฎหมายที่ทำให้วิชาชีพครูด้อยค่า ต่อมาได้มีการเสนอร่างกฎหมายการศึกษาฉบับของ สคคท เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีร่างกฎหมายของรัฐบาลประกบเข้าไปด้วย
มาถึงตรงนี้พวกเราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด พวกเราบางคนได้รับเชิญให้ไปรับรู้รับฟัง สิ่งที่พวกเรารับรู้คือร่างกฎหมายที่เสนอโดย สคคท นั้นได้พยายามแก้ไขให้คงคำสำคัญที่พวกเรากังวลคือให้ใช้คำว่า “ผู้บริหารสถานศึกษา” ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งถือว่าทุกท่านทำหน้าที่ได้ดีแล้วแต่ก็พ่ายแพ้ต่อนักกฎหมายคนสำคัญของกฤษฎีกา ที่พยายามจูงใจให้ใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” โดยให้เหตุผลว่า หากอยากใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ก็ให้ไปใส่ในกฎหมายลูก ให้ใช้ “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” แทนคำว่า “ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครู”โดยให้เหตุผลว่าหากใช้ “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” ก็จะกำหนดให้ใช้ได้ตลอดชีพ ไม่ต้องเสียค่าต่อ่ใบอนุญาต ซึ่งเหตุผลที่ได้มานั้นไม่สามารถยอมรับได้
พวกเราทราบมาว่า ท่าน ดร.ดิเรก พรสีมา ได้พยายามต่อสู้ให้แก้ไขแต่ในที่สุดก็แพ้ทางนักกฎหมายผู้คร่ำหวอด โดยอ้างว่าให้รับๆไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ พวกเราที่เป็นผู้นำองค์กรหลายองค์กรได้มาปรารภถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จึงได้ต่อสายคุยกันโดยมิได้นัดหมาย ในที่สุดผู้นำองค์กรหลักๆ ก็มีความเห็นตรงกันว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วก็จะยากแก่การเยียวยา เพราะ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้น ได้มีการใช้ชั้นเชิงอย่างสูงของนักกฎหมายมือหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยการบัญญัติคำสำคัญว่า “ให้มีใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” ไว้ในหลักการเหตุผลของการร่างกฎหมายนี้ ซึ่งหากมีการผ่านร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณา ก็จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกเพราะเมื่อมีการรับหลักการแล้วก็จะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ทำได้เพียงแค่การอภิปรายแล้วโหวต ซึ่งในที่สุดก็ต้องแพ้เสียงของรัฐบาลเพราะเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล
ด้วยความกังวลใจ พวกเราจึงตกลงรวมกลุ่มกันตั้งองค์กรใหม่ขี้นมาชื่อว่า “เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย” หรือ (คอท) องค์กรนี้พวกเราผลัดกันเป็นผู้นำองค์กรแบบวันต่อวันแล้วแต่ว่าจะมีภารกิจใดเข้ามา ในที่สุดพวกเราก็แจ้งปัญหานี้ให้องค์กรต่างๆทั่วประเทศได้ทราบถึงปัญหาและร่วมมือกันแสดงพลังผลักดันให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ออกมาทำการแก้ไขปรับปรุงคำสำคัญและความสำคัญเสียก่อนแล้วจึงค่อยเสนอเข้าไปใหม่
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ สคคท กลับยืนหยัดต่อสู้ที่จะให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้วค่อยไปแปรญัตติแก้ไขในภายหลัง เรื่องราวจึงกลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง คอท ที่เรียกร้องให้ “ถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาแก้ไขให้เป็นไปตามที่พวกเราต้องการก่อนแล้วจึงค่อยส่งเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา” กับ ฝ่าย สคคท ซึ่งพยายามผลักดันให้ “ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนแล้วจึงค่อยปรับปรุงแก้ไข”
ในที่สุดพลังของครูทั้งประเทศที่ได้แสดงเหตุผลและกดดันจนรัฐบาลยอมให้มีการถอนกฎหมายนี้ออกมาแล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขให้เป็นไปตามที่ คอท เรียกร้อง สิ่งที่น่าเสียดายและเสียใจคือแกนนำของ สคคท บางคนมุ่งเพียงการแพ้ชนะถึงขั้นไปออกสื่อต่างๆ ทั้งในทางสังคมออนไลน์ ทางการสัมมนาออนไลน์ ในทำนองสนับสนุนให้ใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” “หัวหน้าสถานศึกษา” และสนับสนุนการยกเลิกคำว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ทั้งๆที่คำเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้วิชาชีพครูด้อยค่าและทำให้สูญเสียสวัสดิการที่สำคัญ
เรื่องนี้จึงมี “บทเรียนที่มีคุณค่าต่อการจดจำ” ว่า
- เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต้องศึกษาให้ถ่องแท้
- ความเห็นต่างไม่ใช่ความขัดแย้งจนถึงขั้นหาวิธีการที่จะเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของส่วนรวม
- พลังของครูถ้ารวมกันติดจะมีมากกว่าแปดแสนคน และสามารถชี้นำผู้มีอำนาจให้คิดและทำเพื่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองด้านการศึกษาได้ ขอเพียงจับมือกันให้แน่น
- พระเอกนางเอกของเรื่องนี้คือ “ผู้ประกอบวิชาชีพครู” ทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ