คณะรัฐมนตรี รับทราบปรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ใน 3 ประเด็น นายกฯ หนุนวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง “ตรีนุช” เดินหน้าทำกฎหมายลูก รองรับปฏิรูปการศึกษา
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษา และข้อห่วงใยเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. จากข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้หารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับฟังและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยรองนายกฯ ได้เป็นประธานในการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการแก้ไขปัญหาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ระบุให้ชัดเจนว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” พร้อมทั้งปรับแก้คำว่า ”ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เช่นเดิม
ประเด็นที่สอง ปรับแก้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น “ผู้บริหารสถานศึกษา” และปรับแก้คำว่า “ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา” เป็น ”ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา”
ประเด็นที่สาม กำหนดให้มี โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (25 พ.ค.2564) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใน 3 ประเด็นดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเสนอ ครม.เพื่อรับทราบก่อนส่งต่อร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภา เพื่อพิจารณาต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญเกี่ยวกับวิชาชีพครู และการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูเป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า หลังจาก ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ตามที่เสนอขอทบทวนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายลำดับรอง ทั้งพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายหลักที่จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับแต่ละหน่วยงานไว้แล้ว
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564
'ตรีนุช'ยอมถอย ปรับแก้ใหม่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
รมว.ศึกษาธิการ เผย ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ปรับแก้ไขสาระสำคัญ 3 ประเด็นในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.. ด้าน "อำนาจ" แจง ส่งคณะกรรมการกฤษฏีกาปรับแก้แล้ว คาดสัปดาห์นี้แก้ไขเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รายงานร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ให้ที่ประชุมรับทราบว่าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง รวมทั้งการจัดทำกฎหมายครูซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจัดการศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. จึงทำให้มีการร้องเรียนเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้นำเรื่องดังกล่าวหารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล ศธ.แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปที่เห็นตรงกันว่า เห็นควรให้มีการปรับแก้ไขสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว 3 ประเด็น ได้แก่
การกำหนดมาตรา 4 โดยให้ใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา”มาตรา 39 เปลี่ยนจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู โดยไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง และ โครงสร้างของ ศธ.โดยไม่มีการกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษา แต่กำหนดในมาตรา 96 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการกลางของ ศธ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้จะนำใน 3 ประเด็นดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป ก่อนนำเข้าสู่ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ด้าน ดร.อำนาจ วิชนายุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..จะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างแน่นอน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากครูร่วมด้วย โดยจะนำเข้าสู่การแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูและวิชาชีพชั้นสูง และใบรับรองความครูเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และหัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำภาษาที่ใช้ทางกฎหมาย เพื่อปรับแก้ไขให้มีความชัดเจน โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะแก้ไขเสร็จสิ้น และนำเสนอ ครม.ได้ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เพื่อให้มีความสอดรับกันกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. กับกฎหมายลูก โดยเฉพาะ พ.ร.บ. 3 ฉบับที่เรามีอยู่ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จะต้องปรับเปลี่ยนและเติมเต็มในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ฉบับใหม่ด้วย ซึ่ง สกศ.จะเร่งดำเนินการให้ทันก่อน พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงตามข้อคิดเห็น โดย ศธ.ต้องการให้ปรับปรุงตรงกับความต้องการของผู้ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาชาติมากที่สุด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564