กลุ่มเครือข่ายองค์กรครู พร้อม ปธ.คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬาวุฒิสภา ถก รมว.ศธ.ให้ถอนร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติพ.ศ...ออกจากครม. ชี้ ส่งผลคุณภาพการศึกษา หากไม่ปรับปรุงครูนัดแต่งดำไม่อยู่ในห้องเรียนแต่มาลงถนนแสดงจุดยืนแทน
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหารครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาพบตนเพื่อหารือถึงร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆนี้ ซึ่งทุกฝ่ายอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับฟังร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ใหม่ทุกภาคส่วน ดังนั้นคงจะต้องกลับมาดูว่าจะมีแนวทางพิจารณาปรับแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ตนยังได้หารือกับนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬาวุฒิสภา ซึ่งนายตวงมีความเป็นห่วงเรื่องการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และขอให้ศธ.เร่งผลักดันให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียนโดยเร็ว
ด้านนายธนชน กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายยองค์กรครูได้เข้าพบรมว.ศธ. เพื่อขอให้ถอนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ..ออกจากการพิจารณาของครม.ก่อนที่จะนำให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณา ซึ่งตนมองว่าการจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะต้องมีการพิจารณาข้อดีข้อเสียของพ.ร.บ.ฉบับเก่าด้วย โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้นั้นจึงมีประเด็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาและคุณภาพการศึกษา เช่น เป็นร่างกฎหมายที่ไม่กำหนดโครงสร้างของหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษา มีกำหนดแต่เพียงในมาตรา 96 ซึ่งบัญญัติว่าให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการในส่วนกลางของศธ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศธ.เท่านั้น ในขณะที่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษาไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 32 37 และ 44 นอกจากนี้ยังเป็นร่างที่ลดทอนคุณค่าผู้ประกอบวิชาชีพครู ซี่งในมาตรา 39 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ใบรับรองวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู เพราะอาจส่งผลให้ครูเสียสิทธิการรับเงินวิทยฐานะ
นายธนชน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังมีเจตนารมย์ไม่ให้มีข้าราชการครูอีกต่อไปโดยครูที่เข้าไปปฎิบัติหน้าที่หลังจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะไม่ได้เป็นข้าราชการแต่จะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งจะไม่เป็นการจูงใจให้คนดีและคนเก่งมาทำหน้าที่ครู ดังนั้นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ครูซึ่งมีส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับร่างกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้หากยังไม่มีการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ..ครูจะรวมตัวแสดงพลังและจุดยืนไม่อยู่ในห้องเรียนแต่จะนัดแต่งดำลงถนน เพื่อคัดค้านเรื่องนี้อย่างแน่นอน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564