บทสนทนาระหว่าง ผอ.ปุจฉา จอมสงสัย กับ คุณครูวิสัชนา จอมข้อมูล
ว่าด้วย
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯ ฉบับผ่านพิจารณาของ กฤษฎีกา มีผลต่อเงินวิทยฐานะครูหรือไม่
ปุจฉา ทุกวันนี้นอกจากเงินเดือนประจำแล้ว ข้าราชการครู ที่เป็น “ครูผู้สอน” ได้รับเงินอื่น ใดหรือไม่
วิสัชนา บัญชีอัตราวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการ ศึกษาท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ กำหนดว่า ข้าราชการครู “ที่มี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครู” ให้ได้รับเงินวิทยฐานะ ดังนี้
- วิทยฐานะชำนาญการ ได้รับเงินดังนี้
- เงินวิทยฐานะ ๓,๕๐๐ บาท
– เงินค่าตอบแทนพิเศษ ไม่มี
- วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินเพิ่มดังนี้
- เงินวิทยฐานะ ๕,๖๐๐ บาท
- เงินค่าตอบแทนพิเศษ ๕,๖๐๐ บาท รวมรับเงินเพิ่มนอกจากเงินเดือน ๑๑,๒๐๐ บาท
- วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ได้รับเงินเพิ่มดังนี้
- เงินวิทยฐานะ ๙,๙๐๐ บาท
- เงินค่าตอบแทนพิเศษ ๙,๙๐๐ บาท รวมรับเงิน ๑๙,๘๐๐ บาท
- วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษได้รับเงินเพิ่มดังนี้
- เงินวิทยฐานะ - เงินวิทยฐานะ๑๕,๖๐๐ บาท (กรณีได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูง ของเงินเดือนอันดับ คศ ๔)
– เงินวิทยฐานะ ๑๓,๐๐๐ บาท(กรณีได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าขั้น สูงของเงินเดือนอันดับ คศ ๔)
- เงินค่าตอบแทนพิเศษ ๑๕,๖๐๐ บาท (กรณีได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูง ของเงินเดือนอันดับ คศ ๔)
– เงินค่าตอบแทนพิเศษ ๑๓,๐๐๐ บาท (กรณีได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าขั้น สูงของเงินเดือนอันดับ คศ ๔)
ปุจฉา กรณีบุคลากรทางการศึกษา เช่นเจ้าหน้าที่บนสำนักเขตพื้นที่ หรือ เจ้าหน้าที่ใน สพฐ. ล่ะ ได้ค่าวิทยฐานะหรือได้ค่าอะไรบ้าง
วิสัชนา บุคลากรทางการศึกษา ได้เฉพาะเงินประจำตำแหน่ง ตามที่กำหนดท้ายบัญชีของ ข้าราชการพลเรือน แต่ไม่ได้ค่าตอบแทนพิเศษเหมือนข้าราชการครู
ปุจฉา อ้าว ทำไมถึงไม่ได้
วิสัชนา พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ว่า “อัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มี ใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นไปตามที่ กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบัญชีอัตราวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาท้ายพระราชบัญญัตินี้” นอกจากนี้ในรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้ ข้าราชการครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้นไปในอัตราเท่ากับเงินวิทยฐานะ และให้ เฉพาะข้าราชการครูเท่านั้น สำหรับตำแหน่งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เช่น บุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ตำแหน่งตามมาตรา ๓๘ ค (๒) ให้ใช้บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของ ข้าราชการพลเรือนเช่นตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาระดับชำนาญการ ไม่ได้เงินประจำ ตำแหน่ง ไม่ได้เงินค่าตอบแทนพิเศษ ตำแหน่งนักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ๓,๕๐๐ บาท ไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ
ปุจฉา อ้าว.......อย่างนี้ก็เหลื่อมล้ำกันน่ะสิ
วิสัชนา เป็นนโยบายของรัฐบาลยุคนั้นที่ต้องการกวักมือเรียกคนเก่งมาเป็นครู อย่างไรก็ตามขณะนี้ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู (คอท) และชมรมพิทักษ์ สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา กำลังยื่นข้อเรียกร้องต่อ รัฐบาลให้บุคลากรทางการศึกษา๓๘ ค(๒) ได้รับเงินวิทยฐานะ เงิน ค่าตอบแทนพิเศษเท่ากับข้าราชการครูเพราะมีหน้าที่ในเรื่องการศึกษา เช่นเดียวกัน
ปุจฉา อย่างนี้ ถ้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ให้ยกเลิกคำว่า “ใบอนุญาต ประกอบ วิชาชีพครู” แล้วให้ใช้คำว่า “ใบมะม่วง” “ใบขนุน” “ใบฎีกา” หรือ “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” ล่ะ ครูยังจะได้เงินวิทยฐานะหรือไม่
วิสัชนา พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและ บุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓ กำหนดให้ค่าวิทยฐานะเฉพาะผู้ที่มี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เท่านั้น ผู้ที่มี“ใบมะม่วง” “ใบขนุน” “ใบฎีกา” หรือ “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” ไม่ได้เงินค่าวิทยฐานะ
ปุจฉา กรณีศึกษานิเทศก์ ล่ะ จะได้เงินค่าวิทยฐานะหรือไม่
วิสัชนา ศึกษานิเทศก์ เป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้รับเงินวิทยฐานะเหมือนข้าราชการครูและยังได้ค่าตอบแทนพิเศษ เช่นเดียวกับข้าราชการครู
ปุจฉา ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ล่ะ ได้ค่า วิทยฐานะหรือไม่
วิสัชนา ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและ เงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้รับ เงินวิทยฐานะเหมือนข้าราชการครู
ปุจฉา ถ้ามีการเปลี่ยนตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็น “เจ้าอาวาสสถานศึกษา” “ประธานโรงเรียน” “ผู้ว่าราชการสถานศึกษา” หรือ “หัวหน้าสถานศึกษา” ล่ะ จะ ได้รับเงินวิทยฐานะหรือไม่
วิสัชนา ไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ เพราะพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓ กำหนดให้ค่าวิทยฐานะ ผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เท่านั้น ตำแหน่ง“เจ้าอาวาสโรงเรียน” “ประธานโรงเรียน” “ผู้ว่าราชการโรงเรียน” หรือ “หัวหน้าสถานศึกษา” จะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ
ปุจฉา อ้าว...แล้วอย่างนี้จะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนคำหาพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ทำไม
วิสัชนา โปรดโทรไปถาม กฤษฎีกา
ปุจฉา มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ครูที่กระทำผิดจรรยาบรรณล้วนแล้วแต่มีใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพครูทั้งนั้น จึงต้องเปลี่ยนเป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เหตุผล อย่างนี้พอฟังได้มั้ย
วิสัชนา คนนั้นใช่ พี่หม่ำ รึป่าวครับ เหตุผลแบบนี้ฟังได้แบบปลงๆ ละกัน
ปุจฉา ลุงคนเดิมนั่นแหละบอกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่เปลี่ยนจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู ก็เพราะมีเหตุการณ์คือ “ครูกินครู” กล่าวคือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ต้องเสียเงินต่ออายุทุกๆ ๕ ปี แต่ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ กำหนดให้มี “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” โดย กำหนดให้เป็นตลอดชีพ เล้ย ไม่ต้องต่ออายุ ดีกว่ามั้ย
วิสัชนา เป็นความคิดที่ฉลาดเฉลียวมาก ว่าแต่ว่า แล้ว ทำไม เมิง ไม่คิดที่จะกำหนดให้เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”โดยให้เป็นตลอดชีพ ฟะ หัวไม่ได้มีไว้หวีผมอย่าง เดียวนะเพื่อน มีไว้ให้คิดด้วย
ปุจฉา แล้วกรณี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาล่ะ ได้รับเงินวิทยฐานะมั้ย
วิสัชนา ปัจจุบันนี้ยังได้อยู่ เหมือน ผอ.โรงเรียน ใช้กฎหมายเดียวกัน แต่ถ้า พ.ร.บ.การศึกษา แห่งชาติฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ มีสิทธิถูกตัดเงินวิทยฐานะ เพราะเท่าที่อ่านจาก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะ พบว่าไม่มีการพูดถึงเขตพื้นที่การศึกษา เลย นั่นแสดงว่ามีแนวโน้มว่าจะยุบเขตพื้นที่ การศึกษา อย่าว่าแต่เรื่องเงินวิทยฐานะเล้ย เอาแค่ยุบเขตพื้นที่การศึกษา ก็ไม่รู้ว่า ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและรองเขตพื้นที่การศึกษาจะไปนั่งทำงานตำแหน่งอะไร จะ ไปเป็น ศึกษาธิการจังหวัดหรือรองศึกษาธิการจังหวัด ก็ไม่น่าจะได้เพราะมี ศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว อาจต้องทำงานด้าน กีฏวิทยา (งานเกี่ยวกับแมลง เช่น ตบยุง เป็นต้น) บรรดา ผอ เขตพื้นที่การศึกษาจึง ควรออกมาเรียกร้องด้วย
ปุจฉา เอ....ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑ วรรคแรก ว่า “ให้หัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาและครูในสถานศึกษาของรัฐได้รับ เงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดใน กฎหมายว่าด้วยการนั้น” อย่างนี้ก็แสดงว่าต้องได้รับเงินวิทยฐานะสิ
วิสัชนา แล้วไอ้กฎหมายที่ว่าน่ะ มันเกิดขึ้นหรือยัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ มีบัญญัติไว้แบบนี้ แต่กว่าจะเข็นพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำ ตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ออกมาได้ใช้เวลาถึง ๕ ปี เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดก็ไม่มีค่าตอบแทน และก็ไม่มีหลักประกันอะไรมา กำหนดว่าจะได้เงินวิทยฐานะตามกฎหมายใหม่หรือไม่ ถ้าได้จะได้เท่าเดิมหรือไม่ ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ ในภาวะที่รัฐบาลถังแตกแบบนี้ คิดว่าจะได้หรือได้เท่าเดิม หรือไม่
ปุจฉา มาตรา ๑๐๗ วรรคท้ายบัญญัติว่าบรรดาบทบัญญัติแห่ง กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือมติ ค.ร.ม.ใดที่อ้างถึงครูซึ่งมีใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพครูให้หมายถึงครูซึ่งได้รับใบรับรองการประกอบวิชาชีพ ครู” กรณีนี้ก็ ต้อง ถือว่าครูยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินวิทยฐานะด้วย ตาม พ.ร.บ.เงินเดือนฯ ด้วยนี่นา
วิสัชนา อ่านแล้วดูเหมือนจะใช่ แต่หากพิจารณา มาตรา ๑๐๘ แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษา แห่งชาติฉบับนี้ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการ สถานศึกษาในสถานศึกษาของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับเป็นหัวหน้าสถานศึกษาและผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติ นี้ แล้วแต่กรณี และมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและ ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามอัตราเดียวกับผู้อำนวยการสถานศึกษาและรอง ผู้อำนวยการสถานศึกษาดังกล่าวได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” และพิจารณาจากมาตรา ๑๐๙ แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับดังกล่าวที่ บัญญัติไว้ว่า “ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ เป็นศึกษานิเทศก์ตามพระราชบัญญัตินี้ และมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงิน ประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ใน วันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” เมื่อพิเคราะห์จากสองมาตรานี้แล้วจะเห็น ว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ซึ่งทั้งสอง วิชาชีพถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อย เท่านั้น แต่ไม่ได้มุ่งคุ้มครองครูซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เพราะไม่มีมาตราใดเขียนให้ครูเหมือนกับที่เขียนให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฯ และศึกษานิเทศก์เลย ประกอบกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ฯ ไม่ได้ กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุมหรือเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่เป็นองค์ประกอบ สำคัญในการเพิ่มเงินวิทยฐานะให้ ดังนั้นจึงเชื่อโดยสนิทใจว่าครูผู้สอนจะถูกตัดเงิน วิทยฐานะ หาก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้อำนวยการ เขตพื้นที่การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ไม่มีมาตราใดในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับนี้คุ้มครองในเรื่องเงินวิทยฐานะ
ปุจฉา เข้าใจละ ถ้างั้นไปละ ข้าพเจ้าไม่เดือดร้อน ขอไม่ร่วมสู้ด้วยเพราะข้าพเจ้าเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ได้รับผลกระทบอะไร มีมาตรา ๑๐๘ คุ้มครอง สบายละ เชิญไปต่อสู้เรียกร้องกันเอง บาย
วิสัชนา เฮ้ย เฮ้ย อย่าเพิ่งไป ไปดูมาตรา ๑๐๔ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ก่อน มาตรา ๑๐๔ บัญญัติว่า “ ให้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ใช้บังคับอยู่ใน วันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พระราชบัญญัติ นี้ (วรรคสอง)ให้หน่วยงานผู้รักษาการตามกฎหมายดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไข เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ หากกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ดังกล่าวได้ให้หน่วยงานผู้รักษาการตามกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติ ขยายระยะเวลา อีกได้ไม่เกินหนึ่งปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งเป็นอัน ยกเลิก”
ปุจฉา มันคืออะไร อ่านแล้วไม่เข้าใจ จะไปละ
วิสัชนา รอก่อน...จะอธิบายให้ฟังเรื่อง ฆาตกรรมหมู่ ฟังนะ ทุกวันนี้ข้าราชการครูทุก ตำแหน่งที่ได้รับเงินวิทยฐานะและเงินค่าตอบแทน ได้โดยอาศัย พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และมติคณะรัฐมนตรี แต่มาตรา ๑๐๘ ของร่าง พ.ร.บ.นี้ บัญญัติไว้ว่า ให้ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ภายใน ๓ ปี ถ้าไม่เสร็จ พ.ร.บ.เงินเดือนเงินวิทยฐานะ และเงินประจำ ตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้ จะถูกยกเลิก มติ ค.ร.ม.ที่ให้ค่าตอบแทนพิเศษจำนวนเท่าเงินวิทยฐานะก็จะถูก ยกเลิก จะส่งผลให้ข้าราชการครูทุก ตำแหน่งจะถูกตัดเงินวิทยฐานะ และตัดเงิน ค่าตอบแทนพิเศษ ทุกคน อย่างนี้เรียกว่า ฆาตกรรมหมู่ มั้ย ถามว่าถ้ารัฐบาลถังแตก ไม่มีเงินให้ หมดไปกับโควิด แล้วดึงเรื่องโดยไม่แก้ไข ไม่มีการร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนฯ ขึ้นใหม่ ก็จะเดือดร้อนกันไปหมด หากไปดูพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงิน ประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ออกโดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ กว่าจะออกมาได้ใช้เวลานาน ๕ ปี
ปุจฉา โอ๊ย...เครียด ยังมีอะไรที่น่าเครียดอีกมั้ยเพื่อน
วิสัชนา มีครับ ยังมีอีก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติถึง ครู โดยใช้คำแยก สองคำคือ“ครู” และ “ข้าราชการครู” แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ใช้ แต่คำว่า “ครู” ไม่มีคำว่า “ข้าราชการครู” เลย และเมื่อพิจารณาจากมาตรา ๓๕ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ซึ่งบัญญัติว่า “ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการ บริหารงานบุคคลสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมี หลักประกันความ เป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสถานะและได้รับ สิทธิและ ประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ มีความโปร่งใสในการรับบุคคลเข้า ดำรง ตำแหน่งได้อย่างเป็นธรรม....” จากบทบัญญัติของมาตรานี้และเมื่อ พิจารณาจากภาพรวมของกฎหมายนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพ ครู ในสถานศึกษารัฐนั้น จะได้เป็นเพียงพนักงานของรัฐ เหมือนพนักงานมหาวิทยาลัย เท่านั้น จะไม่มีข้าราชการครูรุ่นใหม่อีกแล้ว คำว่าข้าราชการครูก็จะหมายถึง ข้าราชการครูที่รับราชการก่อนที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้
ปุจฉา โห...คนร่างกฎหมายนี้มาเหนือเมฆ หมกเม็ดไม่ให้ใครรู้ ทำอย่างนี้แล้วเด็กรุ่นใหม่ เก่งๆที่ไหนจะอยากมาเป็นครู เพราะเป็นได้แค่เพียงพนักงานของรัฐ ไม่ได้เป็น ข้าราชการ ...ไป ไปกัน ไป เดินขบวนประท้วง กัน จะให้ชูกี่นิ้ว บอกมา เอาด้วยทั้งหมด
วิสัชนา ไม่ต้องชูนิ้ว ไม่ต้องไปเดินขบวน เพราะจะผิด พระราชกำหนดเรื่องโควิด ขอเพียงแค่ ขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนทุกโรงเรียนว่า ไม่เอาคนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ เอ้ย...ไม่เอาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ไป ไป ไปกันเลย
ขอขอบคุณท่านที่อ่านจบ เพราะเกิน ๘ บรรทัด
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔