นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวมอบนโยบายเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Video Conference แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้พิจารณาเสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิ.ย.ออกไปเป็นวันที่ 14 มิ.ย. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ทั่วประเทศยังมีความรุนแรง ดังนั้นจึงต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ลดความเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา และรองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนที่เลื่อนไปเป็นวันที่ 14 มิ.ย.นี้ มีเงื่อนไข 3 ประการ คือ
1.ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ยังไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site คือ ไม่อนุญาตให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนรวมถึงการใช้อาคารสถานที่ และให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิ.ย.นี้เท่านั้น
2.จังหวัดอื่นสามารถเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปได้เช่นเดียวกัน โดยให้ทำการประเมินตนเองบนพื้นฐานความพร้อมโดยผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมกับคณะครู และกรรมการสถานศึกษา หากมีความประสงค์ที่จะเปิดเรียนก่อนวันที่ 14 มิ.ย. ให้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดนั้นๆพิจารณา และหากให้ความเห็นชอบ โรงเรียนก็สามารถเปิดสอนแบบ On-Site ได้ แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยก็ยังต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
“หากโรงเรียนพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ต้องการเปิดสอนออนไลน์ ซึ่งต้องมีครูมาสอนออนไลน์ และมีความจำเป็นต้องใช้อาคารสถานที่ โรงเรียนจะต้องเสนอแผนมาตรการที่ครูสามารถมาสอนได้อย่างปลอดภัย และต้องมาไม่เกิน 20 คน โดยดำเนินการเสนอมายัง สพท. เพื่อเสนอ สพฐ.นำแผนเสนอขอ ศบค.พิจารณา เมื่อได้รับอนุญาต โรงเรียนจึงจะเปิดเรียนออนไลน์ได้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่อยู่ใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และจะมีการเปิดเรียน On-Site หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาจต้องใช้วิธีการสลับมาเรียน หรือรูปแบบอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย” นายอัมพรกล่าว และว่าส่วนเวลาเรียนทดแทนให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงเรียนว่าจะชดเชยอย่างไรเพื่อให้ได้เวลาเรียนครบถ้วนตามหลักสูตร.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 22 พ.ค. 2564