วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาธิการ กกศ.) กล่าวว่า การศึกษาของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด– 19 ค่อนข้างมาก เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้และลดการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ของผู้เรียน สกศ. จึงขอเสนอแนวทางการรับมือและฟื้นฟูการศึกษาให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง มีสาระสำคัญ อาทิ เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี เร่งรัดพัฒนาครูและผลิตครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เร่งรัดการพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนรู้ เนื้อหา กิจกรรม สื่อ และการวัดประเมินผลให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤติ จัดให้มีศูนย์สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาในระดับพื้นที่ และจัดให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยแก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เช่น อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค วัคซีน เป็นต้น
“ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ต่อการจัดการศึกษาในด้านคุณภาพผู้เรียน อินเทอร์เน็ต และภาระผู้ปกครอง
นอกจากนี้ สภาการศึกษา (สกศ.) ยังได้ศึกษาแนวทางของต่างประเทศในการจัดการศึกษาช่วงโควิด-19 พบว่า หลายประเทศจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ พร้อมทั้งการศึกษาทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือวิธีการอื่นๆ เพื่อปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มี และให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้จากทุกที่ เช่น ฟินแลนด์ ได้เปิดให้บริการทรัพยากรทางการศึกษา/แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ต่างๆ โดยครูที่มีชื่อเสียง ฝรั่งเศส ขยายโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ดิจิทัลที่มีอยู่และสนับสนุนให้มีที่ปรึกษาด้านดิจิทัลแก่ครู เกาหลี จัดหาอุปกรณ์ดิจิทัลและค่าอินเทอร์เน็ตให้กับผู้เรียนที่ด้อยโอกาส สหรัฐอเมริกา จัดทำแหล่งข้อมูลและทรัพยากรในการเรียนรู้สำหรับนักการศึกษาและครอบครัว และพบว่าบางประเทศมีการจ้างบุคลากรและอาสาสมัครเพื่อช่วยการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น อังกฤษ สนับสนุนให้โรงเรียนจ้างพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาด้านวิชาการ เพื่อช่วยผู้เรียนให้เรียนทันและเรียนทดแทนในช่วงที่การเรียนรู้ขาดหายไป และ ญี่ปุ่น จ้างครูที่เกษียณ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และคนในชุมชนเข้ามาช่วยในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียน” เลขาธิการ กกศ.กล่าว
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาแนวทางการดำเนินงานของต่างประเทศ พบว่ามียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน NGOs ชุมชน ครูเกษียณ และอาสาสมัคร เข้ามาช่วยออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งร่วมมือพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ สื่อ อุปกรณ์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
เลขาธิการ กกศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการฟื้นฟูการศึกษาหลังโควิด-19 นั้น OECD ร่วมกับ EI (Education International) ได้เสนอหลักการเพื่อการฟื้นตัวทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน เช่น การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ทางไกลที่ออกแบบเพื่อให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงได้ การสนับสนุนครูให้สามารถทำงานได้ในสถานการณ์วิกฤติ การส่งเสริมผู้ปกครองให้ทำงานร่วมกันในการสนับสนุนผู้เรียน การส่งเสริมผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการด้านการเรียนรู้ สังคมและอารมณ์ การส่งเสริมให้ครูและผู้เกี่ยวข้องร่วมออกแบบและสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล และการส่งเสริมครูให้ได้รับการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
“ข้อมูลดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์สนับสนุนการศึกษาในสถานการณ์วิกฤติ อาทิ การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน การจัดบุคลากรและอาสาสมัครเข้ามาช่วยการเรียนรู้ของผู้เรียน การมีที่ปรึกษาให้แก่ครูในด้านเทคโนโลยีการศึกษา ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ควรระดมความร่วมมืออย่างจริงจังจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง ภาคเอกชน ภาคประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครอง และอาสาสมัคร เพื่อระดมพลังและทรัพยากรทางการศึกษาต่าง ๆ ช่วยกันพัฒนาการศึกษายุค New Normal ให้มีคุณภาพที่ดีทั้งในช่วงสถานการณ์วิกฤติและในอนาคตระยะยาว“ นายอำนาจ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564