ผู้สื่อข่าวรายงานว่าองค์การเครือข่ายครูทั่วประเทศ เคลื่อนไหวต่อเนื่อง ค้านรัฐบาลนำ พ.ร.บ.การศึกษาเข้าสู่สภา โดยวันนี้ วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ส.ค.ท.แถลงการณ์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ฉบับที่ 4/2564 เรื่อง รวมพลังเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย เพื่อปฏิรูปการศึกษาสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้ร่วมกับ “ภาคีเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา” คือ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพทางการศึกษา 300 องค์กรฯ ทั่วประเทศ ได้จัดทำปฏิญญาร่วมกันที่จะหลอมรวมองค์กรอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อปฏิรูปการศึกษา พัฒนาวิชาชีพครู ดูแลคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์และบุคลากรการศึกษาทุกระดับ ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูงสุดเกิดแก่ผู้เรียนทุกคนอย่างเสมอภาค ยึดหลักการ การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบความโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาลการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยสากล
เมื่อ 19 เมษายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งหนังสือที่ นร.1906 /68 เรื่อง ผลการพิจารณาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ……กับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะนำกลับเข้าไปพิจารณาในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอรัฐสภา เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
สารบัญญัติ กฎหมายการศึกษาที่อยู่ในมือรัฐบาลขณะนี้ มีหลักการสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อผู้รับบริการ และสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง คือ การลดมาตรฐาน คุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกตำแหน่ง ทุกระดับ ทุกประเภทที่ปฏิบัติหน้าที่หลักอยู่ในสถานศึกษา โดยการยกเลิกการควบคุมการประกอบวิชาชีพครู ในฐานะวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” (Professional License) ที่ต้องมีสภาวิชาชีพ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมมาตรฐาน จรรยาบรรณ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยกำหนดให้ใช้ “ใบรับรอง” (Certificate) แทนการไม่ควบคุมมาตรฐานคุณภาพของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับบริการและสาธารณชน จึงเกิดความไม่เชื่อมั่นและจะส่งผลถึงคุณภาพของประชากรในอนาคต
นอกจากนั้น ในหลักการกระจายอำนาจก็ถูกกฎหมายการศึกษาฉบับนี้ ทำลายลงอย่างย่อยยับ สาระบัญญัติจึงกำหนดให้อำนาจในการบริหารกระทรวงศึกษาธิการรวบอำนาจ (Centralization) ให้อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงส่งผลให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และประชาชน ขาดการมีส่วนร่วมอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน และยังเป็นกฎหมายที่ทำลายขวัญ และกำลังใจ ด้อยค่า และดูหมิ่นเหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกคน ลดตำแหน่งผู้อำนวยการ เป็นตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา ยกเลิกการบริหารงานระดับเขตพื้นที่ และมีแนวโน้มที่วิชาชีพชั้นสูงจะถูกลดเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ภายหลังที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้
ประเด็นสำคัญ ขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 125 กล่าวคือ ในวาระที่ 1 วาระรับหลักการ ซึ่งกฎหมายการศึกษาฉบับนี้ รัฐบาลเป็นผู้เสนอรัฐบาล จึงมั่นใจว่าจะผ่านวาระนี้โดยหลักการสำคัญใดๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ใบรับรอง แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การกำหนดให้ คุรุสภามิได้เป็นสภาวิชาชีพชั้นสูง การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา แทน ผู้อำนวยการ เป็นต้น
ว่าระที่ 2 การแปรญัตติคณะกรรมาธิการสามารถแปรญัตติในรายละเอียดของข้อกฎหมายรายมาตรา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัด กับหลักการ (ข้อ 125 วรรคท้าย) วาระที่ 3 การลงมติ ผ่านกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากและมีเสียงสนับสนุน จากวุฒิสมาชิกเต็มจำนวน ในวาระนี้กฎหมายสามารถผ่านการลงมติได้อย่างแน่นอน การที่มีบุคคลหรือองค์กรบางองค์กรกล่าวว่า จะมีการเพิ่มเติมหลักการและสารบัญญัติในการพิจารณาแปรญัตติตามกฎหมายวาระ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับกฎหมายตามที่อ้างถึงแล้ว
สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) จะยืนหยัดร่วมกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เครือข่ายองค์กรวิชาชีพทางการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาชน จะดำเนินการคัดค้าน ต่อต้านทุกรูปแบบ เพื่อมิให้ร่างกฎหมายการศึกษาฉบับนี้ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา จนกว่ารัฐบาลจะได้แก้ไขหลักการและสารบัญญัติของกฎหมายให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อ จึงประกาศแถลงการณ์ฉบับนี้มาให้ทราบโดยทั่วกันด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และองค์กรเครือข่าย ฯลฯ 16 พฤษภาคม 2564