รมว.ศธ.ผนึก องค์กรหลักฯ ผุดเว็บไซต์ "ครูพร้อม" เตรียมพร้อมนักเรียนก่อนเปิดเทอม หนุนเรียนรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานความสมัครใจ
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหาระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนที่ 1/2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นวันที่ 1 มิ.ย.นั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาแบ่งเป็นการเรียนรู้ 2 รูปแบบ ได้แก่ การเรียนแบบ Online และ Offline โดยในส่วน Online ศธ.ได้เปิดเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ขึ้น ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลาง เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง
รมว.ศึกษาธิการ ส่วนกิจกรรมรูปแบบ Offline นั้น สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค. จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัย และที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันจะไม่เป็นการบังคับหรือจะนำไปใช้ในการวัดและประเมินผลแต่อย่างใด โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพราะสิ่งที่ตนต้องการเตรียมความพร้อมนั้นมาจากเราเลื่อนเปิดภาคเรียน แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้น แต่ก็ถือว่ามีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน จึงอยากสร้างทางเลือกให้นักเรียนได้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นโรงเรียนหยุดแต่การเรียนรู้ของนักเรียนต้องไม่หยุดนิ่ง อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ครูพร้อมจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค.นี้
ต่อข้อถามว่ามีนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในการนำติวเตอร์มาอบรมครูนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งตนเข้าใจในความเป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่การนำภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการดำเนินการมาตั้งแต่โควิดระบาดในรอบแรกแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2564
กระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัว เว็ปไซต์ "ครูพร้อม" คลังข้อมูลและกิจกรรมที่ให้ครูและนักเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงการเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดภาคเรียนที่1/2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่มีความรุนแรงกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีความเป็นห่วงของความปลอดภัยของนักเรียน ครู และผู้ปกครองจึงได้มีการประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคมเป็นวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งระหว่างนี้ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม -1 มิถุนายนนี้ เป็นเวลา 11 วัน กระทรวงศึกษาธิการจัดการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและครูสำหรับการเรียนรู้ ใน 2 รูปแบบคือ ในรูปแบบออนไลน์ มีการจัดตั้งเว็บไซต์ครูพร้อมขึ้น เป็นคลังความรู้และกิจกรรมต่างๆ ที่ให้นักเรียนและครูได้เรียนรู้ระหว่างที่รอเปิดภาคเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะพัฒนาทักษะของตัวเองก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน ยืนยันการเรียนระหว่างนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีการนับชั่วโมงเรียนแต่อย่างใด ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ในรูปแบบออฟไลน์ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ หารือร่วมกับ ศบค.แต่ละจังหวัด จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยยึดความปลอดภัยของนักเรียนครูและผู้ปกครอง เป็นหลัก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนช่วงการเปิดภาคเรียนแลัว ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูป ได้แก่ การเรียนผ่านระบบ On line On site On air On hand และ On Demand ซึ่งเกิดจาการถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมามีการทบทวนและต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งเลือกตามความเหมาะสมของพิ้นที่ โดยยึดความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นหลักเช่นเดียวกัน พร้อมมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการวางระบบติดตามประเมินผล และรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษาและการที่โรงเรียนจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 11 พ.ค. 2564