9 พฤษภาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการหารือเตรียมความพร้อมการเปิดเทอม 1/2564 มีเนื้อหาดังนี้...
‘ตรีนุช’ หารือเตรียมความพร้อมการเปิดเทอม 1/2564
หลังจากที่มีมติให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นั้น ดิฉันได้รับทราบถึงความกังวลใจของครู บุคลากรทางการศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีต่อข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ได้มีการประกาศออกไป ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการเรียนการสอนในเบื้องต้น แต่ดิฉันและคณะผู้บริหารก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวขึ้นอีกหลายครั้ง เพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับแนวทาง ผ่านการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ดังนี้
1. เสริมสร้างทักษะชีวิตด้วย 'การจัดการเรียนรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (PhenoBL)' ก่อนเปิดภาคเรียน นำร่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง บนพื้นฐานของ 'ความสมัครใจ'
สำหรับระยะเวลา 11 วันทำการ (17-31 พ.ค. 64) ก่อนเปิดภาคเรียนที่มีการเลื่อนออกไปนั้น นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนแล้ว ดิฉันยังมีแนวคิดที่จะจัด 'กิจกรรมเสริมทักษะชีวิต' ภายใต้แนวคิด 'การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน' หรือ 'Phenomenon Based Learning (PhenoBL)' ให้กับนักเรียนของเราในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย และเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่สูญเสียไปตราบเท่าที่สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ยังคงดำเนินอยู่
ดิฉันและคณะผู้บริหารเล็งเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวควรที่จะมีทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเป็น 'ทางเลือก' ให้แต่ละโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม
โดยรูปแบบออนไลน์นั้น ทางกระทรวงฯ จะจัดทำคลังสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็น ซึ่งผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง (MOE Learning Platforms) ภายในจะมีชุดสื่อที่กำหนดประเด็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น
- New Normal ของฉัน คืออะไร?
- COVID-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?
- อะไรทำให้ COVID-19 แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ (พื้นที่)? ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเลือกประเด็นที่ตนสนใจ เพื่อนำมาออกแบบการจัดการเรียนรู้ระหว่าง 11 วันนี้ด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน การทำข้อเขียน การทำชิ้นงาน หรือการทำสื่อก็ได้ค่ะ
เช่นเดียวกับรูปแบบออฟไลน์ ที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค. จังหวัด ซึ่งแนวทางการจัดกิจกรรมข้างต้น จะมีการประมวลวิธีการอย่างรัดกุม โดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพของทุกคนเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมทางเลือกให้กับโรงเรียนที่สนใจ 'ไม่ได้บังคับ' ให้ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
2. 5 รูปแบบการจัดการเรียนการสอน
'On-site, On-air, On-line, On-demand, On-hand' ระหว่างเปิดภาคเรียน
จากการถอดบทเรียนในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมา เราได้มีการทบทวนและต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ระหว่างเปิดภาคเรียนในครั้งนี้ โดยจะมีความชัดเจนในรายละเอียดของแต่ละรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น
ดิฉันจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม นี้ เวลา 08.30 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดิฉันขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งค่ะว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการที่ปลอดภัยของทุกคน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันอาทิตย์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
‘ตรีนุช’ หารือเตรียมความพร้อมการเปิดเทอม 1/2564 หลังจากที่มีมติให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ออกไปเป็นวันที่ 1...
โพสต์โดย ตรีนุช เทียนทอง เมื่อ วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม 2021