นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลักศธ.ถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 1 มิถุนายนว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 17 พฤษภาคมเป็นวันที่ 1 มิถุนายนนั้น ซึ่งทำให้นักเรียนมีช่วงระยะเวลาว่าง 11 วันก่อนการเปิดภาคเรียน ดังนั้นตนจึงคิดว่าจะมีวิธีการใดบ้างที่อยากจะเติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนแม้โรงเรียนหยุดแต่การเรียนของเด็กต้องไม่หยุดการเรียน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปว่าจะแบ่งการเตรียมความพร้อมช่วงเวลา 11 วันของนักเรียน แยกเป็นการเรียนรู้ในช่วงวันดังกล่าว 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมแบบออนไลน์ โดยเป็นการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กที่มีความพร้อมในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และ กลุ่มกิจกรรมแบบออฟไลน์ สำหรับกลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน ศธ.ได้ร่วมจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละช่วงวัย
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในส่วนกิจกรรมออไลน์จะมีคลังสื่อการเรียนรู้ต่างๆแขวนไว้บนเว็บไซต์ของศธ. โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนสื่อการเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขณะที่กลุ่มกิจกรรมออฟไลน์ มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรมร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับจังหวัด เพื่อออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การฝึกทักษะอาชีพ หรือการเรียนรู้เรื่องการออมเงินของเด็กแต่ละคน เป็นต้น อย่างไรก็ตามกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่ได้เป็นการบังคับว่าโรงเรียนจะต้องทำทุกแห่ง เพราะเรายังต้องคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ตนจะมีการแถลงข่าวเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะทำภาระกิจให้เชื่อมโยงกับนโยบายของรมว.ศธ. คือ ช่วงแรกการเตรียมความพร้อมของครูเรื่องอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน เพื่อให้การเปิดภาคเรียนไปแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไม่เกิดความเครียด เนื่องจากเรามีบทเรียนมาแล้ว 1 ปีพบว่าการจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เด็กยังไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนที่ดีพอ แต่ปีนี้เราจะสำรวจความพร้อมของเด็กแต่ละคนว่ามีความพร้อมสำหรับการเรียนในรูปแบบไหนได้บ้าง โดยเบื้องต้นจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 50 เด็กต้องการมาเรียนที่โรงเรียน และเป็นพื้นที่สีขาว ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้นครูผู้สอนจะเป็นผู้จัดการเรียนการสอนให้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพเด็ก นอกจากนี้จะลดกระแสความกังวลของผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจว่าสาเหตุใดถึงต้องมาเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน โดยสพฐ.ได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพเป็นหน่วยการเรียนอย่างหลากหลายให้แก่นักเรียนในช่วง 11 วันก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักเรียน พร้อมประกาศให้เขตพื้นที่เป็นศูนย์การรับนักเรียนสำหรับเด็กที่พลาดจากการสอบเข้าโรงเรียนดังและยังไม่มีที่เรียน โดยเขตพื้นที่จะจัดลำดับโรงเรียนที่ว่างไว้ให้ ซึ่งยืนยันว่าเด็กมีที่เรียนทุกคนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในวันที่ 11 พฤษภาคมรมว.ศธ.จะชี้แจงทำความใจให้แก่ครูทั่วประเทศได้รับทราบนโยบายการเปิดภาคเรียนด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
'ตรีนุช'ทำความเข้าใจกับครูทั่วประเทศ วางแผนให้เด็กเรียนรู้ก่อนเปิดภาคเรียน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงการเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ว่า ภายหลังจากที่ ศธ. ประกาศเลื่อนการเปิดเทอม จากวันที่ 17 พ.ค. ออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 ศธ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมความพร้อมรับเปิดเทอมไว้เป็น 2 ช่วง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-1 มิ.ย. เป็นช่วงเวลาที่เด็กยังไม่ได้ไปโรงเรียน ศธ.มีความเป็นห่วงผู้ปกครองที่อาจจะกังวลว่าในช่วงนั้นลูกหลานอาจจะต้องมีกิจกรรมอะไรทำ ประกอบกับศธ.คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ๆ เนื่องจากช่วงนี้สถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังไม่ปกติ ดังนั้น ขบวนการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าในช่วง 11 วัน ระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-1 มิ.ย. จะมีกิจกรรมให้กับนักเรียน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆแรก เป็นกลุ่มออนไลน์ สำหรับเด็กที่มีความพร้อมและสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ ส่วนกลุ่ม 2 ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้(ออฟไลน์) ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารองค์กรหลัก ได้รวมตัวกันที่จะจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ โดยทุกหน่วยงานจะจัดส่งข้อมูลกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและช่วงชั้นของนักเรียนมาไว้ในเวบกลาง เพื่อเป็นข้อมูลสื่อสารหรือแหล่งองค์ความรู้และทักษะชีวิตให้กับผู้เรียน
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ ก็ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษาธิการจังหวัด สอบถามกับทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)จังหวัด พิจารณาว่ากิจกรรมใดที่เด็กๆสามารถทำได้บ้าง ก็ให้ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสมให้กับนักเรียน ซึ่งขณะนี้ ศธ.ก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ที่จะนำติวเตอร์ที่มีชื่อเสียง และผู้ที่มีชื่อเสียงทางการสอนศิลปะเข้ามาช่วยให้ความรู้กับเยาวชน ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็จะมาช่วยส่งเสริมความรู้ด้านอาชีพให้กับผู้ปกครองและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะจัดขึ้นให้เด็กทั้งกลุ่มออนไลน์และกลุ่มออฟไลน์ ศธ.ไม่ได้บังคับว่าทุกโรงเรียนจะต้องทำ เพราะศธ.คำนึงถึงความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่และการเข้าถึงเป็นสำคัญ
“อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะแถลงรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆนี้อีกครั้ง และในวันที่ 12 พ.ค. จะประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับครูทุกสังกัดทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางรองรับการเปิดเทอมด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าเชื้อโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน แต่เราต้องเตรียมความพร้อมโดยเป้าหมายคือผู้เรียนที่จะต้องได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ แต่เราจะทำอย่างไรให้เรียนอย่างปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ และสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่า ทางโรงเรียนจะสามรรถดูแลลูกหลานได้ โดย สพฐ.ได้เตรียมคุณครูให้สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และมีการสำรวจความพร้อมของนักเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความเคลียด เนื่องจาก 1 ปีที่ผ่านมาสพฐ.ได้รับบทเรียนว่าทางโรงเรียนจัดเรียนออนไลน์เหมือนกันทุกโรงเรียน แต่บางพื้นที่เด็กไม่พร้อมได้มีเครื่องมืออุปกรณ์ ดังนั้นในปีนี้ รมว.ศธ. ให้ สพฐ.จะสำรวจความพร้อมของนักเรียนเป็นที่ตั้งก่อนว่า เด็กแต่ละพื้นที่มีความพร้อมจะเรียนแบบใดบ้างใน 5 ช่องทาง ถ้าเรียนออนไซต์ได้ ก็ให้มาเรียนที่โรงเรียน ถ้าพร้อมเรียนออนไลน์ก็จะจัดให้เรียนออนไลน์ และจากข้อมูลการสำรวจ พบว่า 50% มีความต้องการเรียนที่โรงเรียน และเป็นพื้นที่สีขาว ส่วนพื้นที่ที่เรียนออนไซต์(เรียนที่โรงเรียน)ไม่ได้ ก็ดูว่าใครเรียนออนไลน์ได้ และใครเรียนออนแอร์ หรือถ้าใครเรียนออนไลน์ และออนแอร์ไม่ได้ก็ให้เรียนออนดีมานด์ หรือเรียนออนแฮนด์ ดังนั้นในแต่ละรูปแบบคุณครูก็จะจัดการเรียนให้ตามความเหมาะสม และวิธีการที่คุณครูเข้าถึงกับนักเรียน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้ง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นกระแสความห่วงใยของผู้ปกครองของนักเรียนในช่วง 11 วันก่อนเปิดเทอม สพฐ.ก็จะเน้นให้นักเรียนได้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเป็นทางเลือก โดยเน้นปลอดโรค ปลอดภัย เป็นหลัก นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าในวันที่ 1 มิ.ย.เป็นวันเปิดเทอม นักเรียนทุกคนจะมีที่เรียน ดังนั้น ภายหลังประกาศการรับนักเรียนแล้ว หากเด็กคนใดสอบไม่ได้ และยังไม่มีที่เรียน สพฐ.จึงเตรียมร้องรับโดยมอบให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางเพื่อจัดหาที่เรียนให้กับนักเรียนทุกคนให้มีที่เรียน
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.)กล่าวว่า รมว.ศธ.ก็ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดำเนินการทั้งกลุ่มออนไลน์และกลุ่มออฟไลน์ ให้กับผู้เรียน และมอบหมายให้ สอศ. ไปดำเนินการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยทาง สอศ. จะดำเนินการในเรื่องการอบรมเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ซึ่งในการประชุมวันที่ 11 พ.ค. นี้ ตนจะนำเสนอในรายละเอียดต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564