นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และรักษาการนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้มีหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 7 ลงวันที่ 18 เมษายน 2556 แจ้งเวียนถึงหน่วยงานทางการศึกษาที่มีหน้าที่ในการรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วย โดยมีสาระสำคัญคือให้ปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิตจากเดิมที่กำหนดว่า “หากหลักฐานการศึกษามิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่างจากประกาศรับสมัครให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมด” ปรับปรุงเป็น “กรณีหลักฐานการศึกษา ซึ่งผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยนำมาใช้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือก มิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกพิจารณาและดำเนินการนับจำนวนหน่วยกิตรายวิชาที่ศึกษาที่ตรงกับกลุ่มวิชาหรือทางหรือสาขาวิชาเอกที่ประกาศรับสมัครจากหลักฐานการศึกษา (Transcript)” นั้น
ตนเห็นว่าการออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ส่งผลให้บุคคลที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอกและไม่ได้อยู่ในกลุ่มสาขาวิชาที่ประกาศรับสมัครแต่เมื่อนับหน่วยการเรียนแล้วพบว่ามีวิชาที่เรียนตรงกับวิชาเอกที่ประกาศรับสมัคร 30 หน่วยกิตขึ้นไป จะกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัคร โดยที่ผ่านมานั้น ก.ค.ศ.ยินยอมให้ผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกที่หลักฐานการศึกษาไม่ได้ระบุวิชาเอกไว้ และแม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวิชาที่ประกาศรับสมัคร หากมีการนับหน่วยกิตวิชาที่เรียนแล้วตรงกับวิชาเอกที่รับสมัครจำนวน 30 หน่วยกิต ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกพิจารณาก็สามารถรับสมัครได้โดยถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเช่นกัน การที่ ก.ค.ศ.กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ที่ตัดสิทธิบุคคลเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากมายดังนี้
1. ที่ผ่านมา ผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ไม่ตรงวิชาเอก ไม่อยู่ในกลุ่มวิชาที่รับสมัครแต่มีจำนวนหน่วยการเรียนครบ 30 หน่วยกิต ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ บุคคลเหล่านี้ประสงค์ใช้สิทธิในการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยจึงได้ไปเรียนต่อ ป.บัณฑิตด้านการศึกษา จนสำเร็จการศึกษาแล้วหรือกำลังศึกษา ต่อมาเมื่อ ก.ค.ศ.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ โดยตัดสิทธิบุคคลกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้เสียสิทธิและเสียหาย ไม่สามารถสมัครสอบเป็นข้าราชการครูได้ทั้งๆที่ในหลายปีที่ผ่านๆมาสามารถสมัครสอบได้
2. ที่ผ่านมาผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ไม่ตรงวิชาเอก ไม่อยู่ในกลุ่มวิชาที่รับสมัครแต่มีจำนวนหน่วยการเรียนครบ 30 หน่วยกิต ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติและประสงค์ใช้สิทธิในการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยและจึงได้ไปเรียนต่อ ป.บัณฑิตด้านการศึกษา จนสำเร็จการศึกษาแล้วและหวังจะสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูจึงได้ไปเป็นเป็นครูอัตราจ้างเพื่อเกิดสิทธิในการสมัครสอบบรรจุเป็นครูกรณีพิเศษหรือกรณีทั่วไป ก็จะเสียสิทธิและเสียหายโดยอาจถึงขั้นถูกโรงเรียนเลิกจ้าง เนื่องจาก ก.ค.ศ.ไม่รับรองว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในวิชาเอกนั้นๆ
นายรัชชัยย์ฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการมีผลย้อนหลังของ “กฎ” ไว้ว่า “การบังคับใช้กฎหมายนั้นรัฐจะกระทำการได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศให้บุคคลรับทราบถึงเนื้อหาของกฎหมายเพื่อที่ผู้อยู่ในบังคับจะได้ควบคุมการกระทำของตนเองให้สอดคล้องกับกฎหมายเช่นว่านั้นและรัฐไม่อาจใช้อำนาจเพิ่มเติมให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลเกินกว่าผลทางกฎหมายที่มีอยู่ในขณะกระทำการได้”
ดังนั้นการที่ ก.ค.ศ.มีมติดังกล่าวจึงเป็นการออก “กฎ” ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลที่มีคุณสมบัติอยู่เดิมและเป็นการออกกฎที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมายทั่วไปและยังขัดแย้งกับแนววินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเรื่องนี้หากผู้ที่คิดว่าตัวเองได้รับความเดือดร้อนเสียหายฟ้องยกเลิกเพิกถอนมติดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายต่อกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงฟ้องอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะเกิดความวุ่นวายตามมาอีกมากมาย จึงขอความเมตตาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดพิจารณาให้มีการยกเลิกเพิกถอนมติดังกล่าวของ ก.ค.ศ. หรือให้มีผลบังคับใช้ในภายหลังที่ไม่กระทบสิทธิคนที่มีสิทธิอยู่เดิม ต่อไป