"ตรีนุช" วางระบบการเรียนช่วงโควิด
รมว.ศึกษาธิการ มอบสพฐ.วางระบบการเรียนช่วงโควิดให้มีคุณภาพ เผย อาจปรับการเรียนให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่เลือกให้เด็กได้เรียนทักษะอาชีพ ย้ำสอบเข้าม.1 และม.4 โรงเรียนดัง ยึดมาตรการเว้นระยะห่างขั้นสูงสุด
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งตนอยากให้โรงเรียนทุกแห่งจัดระบบการเรียนการสอนให้ดี เพื่อให้เด็กได้รับการเติมเต็มความรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้รับรายงานว่านายอัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศไปสำรวจความพร้อมของโรงเรียนแต่ละแห่งแล้ว เพราะแน่นอนว่าเมื่อเรามีรูปแบบการเรียนการสอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 เตรียมพร้อมไว้ 5 รูปแบบ ได้แก่ การเรียนผ่านระบบ on line on site on air on hand และ on demand นั้นก็ไม่อยากให้เป็นการสั่งการจากส่วนกลางว่าโรงเรียนทุกแห่งจะต้องจัดการเรียนการสอนตามนี้ทั้งหมด แต่อยากให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกได้เองว่ารูปแบบไหนจะเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียนและนักเรียนมากที่สุด โดยเฉพาะโรงเรียนและนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านสื่อเทคโนโลยีก็อาจจัดให้เป็นการเรียนด้านทักษะอาชีพแทนได้หรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนมาตรการสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 และม.4 ที่ต้องมีการประกาศปฎิทินสอบเข้าใหม่ในวันที่ 22 พ.ค. เนื่องจากศธ.ได้ขยับการเปิดภาคเรียนที่ 1 เป็นวันที่ 1 มิ.ย.นั้น ขณะนี้สพฐ.ได้เตรียมมาตรการความพร้อมอย่างเต็มที่ และขอกำชับให้โรงเรียนทุกแห่งโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงได้ปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ปกครองเองจะต้องลดการรวมตัวไปนั่งรอบุตรหลานเข้าสอบ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าสอบเสร็จให้กลับบ้านและมารับหลังเวลาเลิกสอบ หรือโรงเรียนจัดพื้นที่เว้นระยะห่างไว้ให้ผู้ปกครองพักคอยได้
“การเลื่อนเปิดภาคออกเรียนจากกำหนดการเดิมที่จะต้องเปิดวันที่ 17 พ.ค.ของทุกปีการศึกษานั้น เราประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านแล้ว อีกทั้งเป็นเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่อยากให้เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปก่อนด้วย ส่วนประเด็นที่นักวิชาการมองว่าจะทำให้เด็กได้รับการเรียนไม่เต็มที่หากเลื่อนเปิดภาคเรียนนั้น ประเด็นดังกล่าวดิฉันเข้าใจความเป็นห่วงของภาคสังคม แต่การเลื่อนเปิดภาคเรียนคือมาตรการที่ดีที่สุดในตอนนี้ที่ศธ.จะต้องยึดความปลอดภัยด้านสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564