ปลัด ศธ.เผย รมว.ศธ.ถกวางแผนการเปิดภาคเรียน หลังโควิดระบาดหนักรอบใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอน รอ ศบค.เคาะสอบเข้า ม.1 และ ม.4
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เรื่องการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ที่ประชุมได้ประเมินถึงการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน และการเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 และม.4 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากขณะนี้มีการประกาศของกรุงเทพมหานคร ให้งดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก แต่ขณะนี้ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ดังนั้นคงต้องรอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งจากนี้ไปมาตรการต่างๆ ของสถานศึกษาเราจะมีการประเมินร่วมกับ ศบค. นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะกลับไปประเมินความพร้อมการเปิดภาคเรียนว่าโรงเรียนในพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนบ้าง รวมถึงวางแผนจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมและออกแบบบทเรียนให้มีความทันสมัย เพื่อให้เด็กสามารถเลือกเรียนได้ทั้ง On air On line หรือ On site
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดใน ศธ.ที่ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อทั้งข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 22 รายนั้น เรากำลังประเมินสถานการณ์และหามาตรการที่เข้มข้นขั้นสูงสุด แต่เบื้องต้นได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงาน Work Form Home 5% แล้ว ซึ่งตนก็ไม่อยากจะกล่าวหาว่า ศธ.เป็นการระบาดคลัสเตอร์แบบกลุ่ม แต่ขอย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ ศธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด โดย ศธ.คงไม่สามารถให้ Work Form Home ได้ 100% เนื่องจากการทำงานบางเรื่องไม่สามารถหยุดได้ เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณ คดีฟ้องร้องทางปกครอง เป็นต้น เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนตามกรอบเวลาของกฎหมาย
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากประเมินสถานการณ์แล้วจำเป็นต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 การสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ก็อาจจะต้องเลื่อนการสอบตามไปด้วย ดังนั้นการจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนคงต้องอยู่ที่ ศบค.จะพิจารณา ในส่วนของ สพฐ.เราไม่มีความกังวล แต่เราเป็นห่วงมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนมากกว่า เพราะรูปแบบการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด สพฐ.เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564