26เม.ย.64-นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) จะจัดขึ้นในปี 2022นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการสร้างเครื่องมือที่จะให้ครูนำไปใช้ฝึกนักเรียนให้มีทักษะเรื่องการอ่าน ทั้งนี้เครื่องมือดังกล่าวจะทำให้เด็กมีความสามารถในเรื่องการจับใจความ แยกประเด็น ตีความ รวมถึงประเมินค่าหาความสอดคล้องและความขัดแย้งในเนื้อหาที่อ่าน ไม่ว่าจะเป็นบทความด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เทคโนโลยี และอื่นๆ เพื่อฝึกให้เด็กเกิดความชำนาญในเรื่องทักษะการอ่าน เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่จะใช้ในการทดสอบ PISA
นอกจากนี้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ยังได้มีนโยบายให้ สพฐ.ขยายผลเรื่องดังกล่าวไปยังโรงเรียนในทุกสังกัด โดยการจัดอบรมให้กับตัวแทนของหน่วยงานที่มีการจัดการศึกษา เพื่อที่จะขยายผลไปสู่ครูในแต่ละสังกัด และจะทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนอายุ 15 ปี สามารถฝึกฝนนักเรียนให้มีทักษะด้านการอ่านในตลอดปีการศึกษา 2564
“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการเตรียมตัวเพื่อให้นักเรียนเข้ารับการทดสอบ PISA เพียงอย่างเดียว แต่หากเด็กมีทักษะเรื่องการอ่านเหล่านี้ และชำนาญเด็กก็จะสามารถเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ได้อย่างดี เพราะเด็กจะสามารถจับใจความ สรุปย่อ หาความสอดคล้องในสิ่งที่เรียนได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราอ่อนในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ "รองเลขากพฐ.กล่าว
ทั้งนี้สำหรับการอบรมในส่วนของ สพฐ. จะอบรมศึกษานิเทศก์ 1 คน ตัวแทนครู 1 คน ต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมศึกษาเอกชน (สช.) จะมีศึกษานิเทศก์ของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็จะมีตัวแทนเข้าร่วมในการอบรม
ขอบคุณที่มาเนื้อข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564