นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 และการรับสมัครเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 โดยในส่วนของการเปิดภาคเรียนที่ 1 นั้นกำหนดเปิดภาคเรียนตามเดิม คือ วันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งมีแนวปฏิบัติของการเปิดภาคเรียนกำหนดไว้ 5 รูปแบบ ได้แก่ การเรียนผ่านระบบ Online ,Onsite, Onair, On hand และ On demand โดยขณะนี้ สพฐ.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจอุปกรณ์การเรียนการสอนของนักเรียนและโรงเรียนแต่ละแห่งว่ามีพร้อมด้านอุปกรณ์ที่จะใช้เรียนตาม 5 รูปแบบความเหมาะสมควรเป็นวิธีใดบ้าง เช่น โรงเรียนขนาดเล็กจะเน้นให้มาเรียนที่โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์ผู้ปกครองและนักเรียนด้วย
ดังนั้นในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 17 พฤษภาคม จะไม่ใช้การจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดียวเหมือนที่ผ่านมา เช่น กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดง สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้เต็มรูปแบบ เป็นต้น รวมถึงจะร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยดูแลมาตรการสุขภาพของนักเรียนในการจัดการเรียนการด้วย นอกจากนี้ สพฐ.ได้จัดคลังความรู้แขวนไว้บนเว็บไซต์ สพฐ. เพื่อให้ครูและนักเรียนได้นำไปใช้ได้ด้วย ทั้งนี้การสำรวจอุปกรณ์การเรียนการสอนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พฤษภาคม นี้
"สพฐ.ได้ถอดบทเรียนมาแล้ว และเน้นย้ำกับทุกโรงเรียนว่า แม้โควิดจะยังระบาด อยู่ แต่การเรียนการสอนจะหยุดไม่ได้ ทุกโรงเรียนจะต้องหารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนมาทดแทน และไม่ควรนำการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาจัดการสอนแบบเหมารวมเหมือนกันทั้งโรงเรียน" นายอัมพรกล่าว
ส่วนการรับนักเรียนชั้นม.1 และ 4 นั้น ขณะนี้ได้เลื่อนการรับสมัคร ม.1วันที่ 24-28 เมษายน สอบ/คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 6 พฤษภาคม ประกาศผล วันที่ 8 พฤษภาคม สอบคัดเลือก-เงื่อนไขพิเศษ วันที่ 8 พฤษภาคม ประกาศผล วันที่ 11 พฤษภาคม จับสลาก-ประกาศผล วันที่ 10 พฤษภาคม รายงานตัวและมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 และ ม.4 รับสมัคร วันที่ 24-28 เมษายน สอบคัดเลือก-เงื่อนไขพิเศษ วันที่ 9 พฤษภาคม ประกาศผล วันที่ 12 พฤษภาคม สอบ/คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 6 พฤษภาคม ประกาศผล วันที่ 8 พฤษภาคม รายงานและมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 13 พฤษภาคม
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้กำหนดนโยบายการอ่านออกเขียนได้ และการคิดคำนวณ ให้เป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนทุกแห่ง พร้อมทั้งนำพระบรมราโชบายเรื่องจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564