แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.)
ฉบับที่ 2/2564
เรื่อง ขอเรียกร้องให้นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา(กมว.) ลาออกจากทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพครู
---------------------------------------------------
ตามที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา(กมว.) ได้สื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ความว่า “ครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง แต่ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู” การแสดงทัศนะดังกล่าวของนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ในประเด็นเรื่อง “ครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง” นั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้วิชาชีพครูด้อยค่าลง เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีหลักวิชาอ้างอิง ทั้งๆ ที่ความเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้นได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายการศึกษาหลายฉบับ และเป็นไปตามองค์ประกอบทางวิชาการว่าด้วยความเป็นวิชาชีพชั้นสูงซึ่งมีหลักการว่า เป็นวิชาชีพที่ให้บริการแก่สังคม เป็นวิชาชีพที่จะต้องได้เรียนรู้เป็นระยะเวลานาน เป็นวิชาชีพที่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นขอบเขตแห่งความประพฤติ เป็นวิชาชีพที่ใช้ปัญญาอย่างมากในการประกอบอาชีพ เป็นวิชาชีพที่มีความอิสระในการประกอบอาชีพ มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการตามสาระสำคัญแห่งวิชาชีพ ทั้งทางด้านเทคนิควิธีและกระบวนการให้สอดคล้องกันและเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการหรือสังคมได้โดยไม่มีข้อจำกัด เป็นวิชาชีพที่มีฐานะทางสังคมอยู่ในระดับสูง ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูงและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ เป็นวิชาชีพที่มีสถาบันของตนเองเพื่อควบคุม ส่งเสริม พัฒนา สร้างสรรค์สาระแห่งวิชาชีพ ตลอดจนเกียรติศักดิ์ศรีของวิชาชีพและบุคคลในวิชาชีพ
โดยที่วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงได้รับการยกย่องมาช้านานหลายสิบปีแล้ว ทั้งจากสังคมทางวิชาการและจากที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายการศึกษาอีกหลายฉบับ นอกจากนี้การที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู” นั้นเห็นว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวที่มิได้มีเจตนายกย่องผู้ประกอบวิชาชีพครูในประเด็นเรื่องการมีความรับผิดชอบสูง แต่เป็นการดูแคลนเสมือนหนึ่งว่าผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมจึงต้องถูกกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู ความคิดเห็นของนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ซึ่งเป็นถึงประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและยังเป็นประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา(กมว.) ควรจะมีพื้นฐานจากเหตุและผล อ้างอิงผลงานทางวิชาการหรือการวิจัย แต่กลับแสดงความเห็นตามอารมณ์และตามทัศนคติของตนที่เป็นลบต่อผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งๆ ที่ตนเองเจริญเติบโตในหน้าที่การงานจนถึง ทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ที่สำคัญคือบ่อยครั้งที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ได้ดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในทางวิชาชีพครูโดยมิได้เคยสอบถามสดับตรับฟังความเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพครู มีการดำเนินการตามความคิดของตนจนสร้างความอึดอัดใจให้ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา(กมว.) นั้น ก็มิได้มาจากความสามารถหรือมาจากการยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพครูแต่อย่างใด แต่มาจากอำนาจของคณะปฏิวัติ อีกทั้งนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาอย่างมีความชำนาญ
ดังนั้นเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย(ค.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) สหภาพครูแห่งชาติ (ส.ค.ช.)ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย(ช.ผอ.สพ.ท.) สมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.พท.)และองค์กรเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องให้นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ลาออกจากทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพครูและหากไม่ลาออก ก็จะเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งประเทศไทยเข้าชื่อเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถอดถอนนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ให้พ้นจากทุกหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการและแต่งตั้งบุคคลที่เคยปฏิบัติหน้าที่ครู มีความรู้ความสามารถให้มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ต่อไป
จึงแถลงการณ์มาเพื่อโปรดทราบ
เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย(ค.อ.ท.)
19 เมษายน 2564