บทความวิชาการ
เรื่อง บอร์ดเกมกับการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์
นายเดชาพัชร สมหมาย
ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย โรงเรียนสุขสำราญราษฎร์รังสรรค์
เมื่อครูเปลี่ยนจากรูปแบบการสอนมาเป็นการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เพื่อเข้าใจไม่ใช่เรียนรู้เพื่อจดจำ และครูต้องระวังการเกิด Fixed Mindset กับตัวผู้เรียน ควรสอนให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง และที่จะขาดไม่ได้คือครูต้องมีการสะท้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงและพัฒนา รวมถึงต่อยอดความคิดของตนเอง
ในขณะที่ปัจจุบันนั้น แม้จะเป็นยุคเทคโนโลยีที่คอยอำนวยความสะดวกมากมายให้ผู้คน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เทคโนโลยีได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทของการเป็นเด็ก นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปสู่โลกของเกม ซึ่งคอมพิวเตอร์และมือถือทำให้เราสามารถเล่นเกมต่างๆที่ไหนก็ได้ขอเพียงมีอินเตอร์เน็ต (หรือบางเกมก็เล่นกับ AI) แต่เชื่อได้ว่าส่วนมากคงไม่อาจจะปฎิเสธเสน่ห์อย่างหนึ่งของเหล่าบอร์ดเกมนี้ได้ นั่นคือการได้สัมผัสกับตัวเกมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมที่ถูกสร้างมาให้เรียบง่าย เล่นได้ไว หรือเกมที่ดูอลังการ มีของประกอบฉาก มีโมเดลต่างๆ เรียงรายกันอย่างสวยงามก็ตาม การที่ได้นั่งเล่นกับคนที่เพื่อนๆ สามารถอ่านสีหน้าได้ ดูท่าทาง การได้ถือการ์ดหรือกระดาษข้อมูล ได้สอบถามคนที่เล่นด้วยกัน การเล่นพลาดหรือปรับเปลี่ยนให้ต่างจากกฎเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความสนุกหรือความหลากหลาย เสียงของลูกเต๋าที่กลิ้งบนโต๊ะหรือ Tower บรรยากาศเล็กๆ บนโต๊ะที่เหมือนกับโลกส่วนตัวแม้ว่าจะอยู่กับคนมากมาย เป็นอะไรที่แม้แต่คอมพิวเตอร์หรือมือถือในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้ได้ ซึ่งบริบทนักเรียนในแต่ละพื้นที่แต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป
และถ้ากล่าวถึงวิชาฟิสิกส์ หลายคนก็คงนึกถึงภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือไม่ก็โจทย์ปัญหาที่ชวนให้ปวดหัว ยิ่งเป็นนักเรียนด้วยแล้วคงไม่ต้องพูดเลย มีนักเรียนน้อยมากที่จะสนใจหรือสนุกกับการเรียนฟิสิกส์ บางคนถึงกับมองวิชาฟิสิกส์เป็นยานอนหลับชั้นดี หรือบางคนพอเห็นโจทย์ฟิสิกส์ถึงกับต้องกุมขมับกันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าให้ทำแบบฝึกหัดฟิสิกส์ด้วยแล้ว ชั่วโมงหนึ่งทำได้ไม่เกิน5-10ข้อ บางคนก็คอยหลอกของเพื่อนไม่เคยคิดอยากจะลองคิดด้วยตนเอง
ข้าพเจ้านายเดชาพัชร สมหมาย ตำแหน่งครูผู้ช่วย โรงเรียนสุขสำราญราษฎร์รังสรรค์ จังหวัดระนองสอนวิชาฟิสิกส์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่5/1 ปีการศึกษา2563 ซึ่งได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการผสมผสานระหว่างบอร์ดเกมกับเนื้อหาฟิสิกส์ โดยออกแบบบอร์ดเกมที่ใส่โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ และสร้างสถานการณ์โดยให้นักเรียมสวมบทบาทตัวละครของเกมแล้วนำดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะสร้างบรรยากาศห้องเรียนแบบท้าทาย นักเรียนแต่ละคนจะมีส่วนร่วมและได้สนุกพร้อมกับฝึกทำโจทย์ปัญหา ซึ่งจากการใช้บอร์ดเกมในการเรียนการสอนฟิสิกส์ พบว่า นักเรียนนักเรียนจะเพลิดเพลินกับการทำโจทย์โดยรู้ตัว และสามารถทำโจทย์ปัญหาได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า และนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 บอร์ดเกมที่ใช้นักเรียนให้ระดับความพึงพอใจอยู่ระดับดี โดยนักเรียนมีความต้องการให้จัดการเรียนการสอนโดยใช้บอร์ดเกมอีกและขอเวลาสำหรับเล่นบอร์ดเกมฟิสิกส์ให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย
สุดท้ายนี้ ในการจัดการเรียนรู้ด้วยบอร์ดเกมนั้น คุณครูจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ผู้เรียน โดยต้องจัดการเรียนรู้ที่เข้าใจผู้เรียน และสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความสุขและบรรลุเป้าหมาย แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใด แต่การจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้ลงมือปฏิบัติ ย่อมมีคุณค่าและสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์