นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) แจ้งว่าได้ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภาคประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และยังได้ประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเห็นว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ยอมรับฟังและแก้ไขในหลายประเด็น ปัจจุบันสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) มีสมาชิกที่เป็นสมาคม องค์กร ครูและบุคลากรอยู่ 19 องค์กร นอกจากนี้ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) ยังได้แจ้งว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายภาคประชาชนที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) ยอมรับตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีดังนี้ คือ
1. ไม่ใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่ให้ใช้ตำแหน่ง หัวหน้าสถานศึกษา โดยให้หน่วยงานไปกำหนดชื่อเอง
2. ไม่ใช้คำว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ให้ใช้คำว่า ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู
3. ไม่มีบัญญัติไว้ในมาตราใดที่ระบุให้ “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง”
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขอเรียนว่าสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดและแนวทางในการร่างกฎหมายการศึกษามีความแตกต่างกัน และสมาคมก็มิได้มอบหมายให้สมาชิกหรือกรรมการบริหารสมาคมรายใดไปเป็นตัวแทนของสมาคมในการไปร่วมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเสนอเป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชน ร่วมกับ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) แต่อย่างใด ปัจจุบัน องค์กรที่ถือว่าเป็นตัวแทนของครูทั้งประเทศคือ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท) ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนประถมศึกษาทั้งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มี ดร.วีรบูล เสมาทอง เป็นประธานสมาพันธ์ และสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.) ซึ่งมีนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ เป็นนายกสมาคม ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งประเทศไทย โดยเรื่องนี้ตนได้สอบถามไปที่ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท) แล้วว่าเป็นสมาชิกของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) หรือไม่อย่างไร ได้รับแจ้งว่า สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท) มิได้เป็นสมาชิกของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) และการที่มีสมาชิกของสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท)บางรายไปร่วมประชุมกับ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) นั้นถือว่าไปประชุมเป็นการส่วนตัว
นายรัชชัยย์ ฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) ได้ไปพบนายกรัฐมนตรี ไปประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพบกับนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนครูทั้งประเทศเพราะไม่มีฐานะเป็นตัวแทน นอกจากนี้การที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท)ไปยอมรับการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กับที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นเรื่องการ เปลี่ยนตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เป็น “หัวหน้าสถานศึกษา” และการ เปลี่ยนคำสำคัญจาก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพ” นั้น ข้าราชการครูทั้งประเทศไม่สามารถยอมรับได้เพราะจะทำให้ข้าราชการครูได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ดังนี้
ข้อ 1. มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยะฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาบัญญัติไว้ว่า “อัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนด ไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาท้ายพระราชบัญญัตินี้” โดยบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาท้าย พ.ร.บ.เงินเดือนฯดังกล่าว กำหนดให้ข้าราชการครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษจะได้เงินประจำตำแหน่งคนละ 5,600 บาท และยังจะได้รับเงินค่าวิทยฐานะอีก 5,600 บาท รวมเป็นเงิน 11,200 บาท ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษจะได้รับเฉพาะเงินประจำตำแหน่งคนละ 5,600 บาท ซึ่งขณะนี้สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายให้ข้าราชการพลเรือน วิทยฐานะชำนาญการพิเศษให้ได้รับเงินค่าวิทยฐานะ อีก 5,600 บาท เท่าเทียมกับข้าราชการครู อนึ่ง ข้าราชการครูที่จะได้รับเงินค่าวิทยฐานะ อีก 5,600 บาท นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เท่านั้น การเปลี่ยนเป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพ” จึงทำให้ครูไม่ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.เงินเดือนฯดังกล่าว
ข้อ 2 มาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง” แต่ ร่างกฎหมายการศึกษา ฉบับที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท) เสนอต่อรัฐบาลนั้น ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่อย่างใด ทั้งๆที่การเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้นเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่ประกอบวิชาชีพครู และยังจะส่งผลให้เป็นวิชาชีพที่จะได้รับเงินวิทยฐานะเพิ่มเติม
นายรัชชัยย์ฯ กล่าวเพื่มเติมว่าจากการติดตามการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆของนายมีชัย ฤชุพันธ์ นั้น พบว่านายมีชัยฯ มีมุมมองต่อวิชาชีพครูว่าเป็นวิชาชีพทั่วไป ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษมากไปกว่าวิชาชีพอื่นๆ ไม่เคยมองว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ดังนั้นนายมีชัยฯจึงไม่เคยสนับสนุนให้มีตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” ในสถานศึกษา ทั้งๆที่มีหลายหน่วยงานที่มีภาระงานและอัตรากำลังคนในหน่วยงานต่างๆน้อยมากแต่หัวหน้าหน่วยงานก็เป็นตำแหน่ง “ ผู้อำนวยการ” เช่น ผู้อำนวยการกลุ่มในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (สถานีอนามัยตำบล) เป็นต้น การเปลี่ยนตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เป็น “หัวหน้าสถานศึกษา” แม้จะอ้างว่าให้เป็นไปตามส่วนราชการกำหนด นั้น ก็ไม่สามารถยอมรับได้เพราะเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งยังขาดความแน่นอน อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการจัดทำร่างกฎหมายการศึกษาทั้งสี่ฉบับโดยเป็นร่างกฎหมายของสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร ที่มี รศ. ดร.สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการร่างกฎหมายการศึกษา และมีตัวแทนของ ส.บ.ม.ท.ไปเป็นคณะทำงานร่างกฎหมายการศึกษานี้ โดยร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับดังกล่าวนั้นได้ร่างเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ฉบับที่เป็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นั้นได้ยืนยันดังนี้
4.1. ให้คงคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”
4.2 ให้คงคำว่า “ผู้อำนวยการ”
4.3 ให้มีการบัญญัติไว้ว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ไว้ในร่างกฎหมายการศึกษาในแต่ละฉบับ
นายรัชชัยย์ ฯได้กล่าวอีกว่าตนมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เหมือนที่เคยใช้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯฉบับปัจจุบัน ทั้งๆที่ คำสำคัญทั้งสองคำนั้น เคยผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว จึงมีการบัญญัติคำดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตนจึงได้สอบถามตัวแทนของ สคคท รายหนึ่งที่เข้าประชุมด้วยได้รับคำชี้แจงว่า ที่ประชุมเห็นว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นการอนุญาตเป็นครั้งๆไป มีระยะเวลา มีหมดอายุ ครูต้องเสียเงินมาต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี หรือตามที่กำหนดไว้ แต่หากเป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู รับรองแล้ว เป็นครูไปตลอด ถ้าไม่ทำความผิดนั้น” ตนเห็นว่าหากเหตุผลเยี่ยงนี้เป็นสาระสำคัญในการไม่ใช้ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แล้ว ตนและครูทั้งประเทศไม่สามารถยอมรับได้ เป็นการให้เหตุผลแบบไม่น่าเชื่อว่าผู้ให้เหตุผลเช่นนี้เป็นนักกฎหมายมหาชนระดับประเทศ เป็นองค์กรที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล การให้เหตุผลอย่างนี้เชื่อโดยสุจริตใจว่ามีเจตนาอื่นแอบแฝง ส่วนกรณีที่ให้ใช้คำว่า หัวหน้าสถานศึกษา โดยให้หน่วยงานไปกำหนดชื่อเอง นั้น ก็ไม่ได้รับคำตอบอย่างมีเหตุผลว่าทำไมไม่ใช้คำเดิม คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา นอกจากนี้ตนมีคำถามและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า
1. คณะที่เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ภาคประชาชน ย่อมหมายถึงมีประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคน ได้เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย จึงขอทราบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวบัญญัติคำสำคัญ เกี่ยวกับ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่เป็นคำสำคัญที่มีอยู่เดิมไว้อย่างไร ประชาชนผู้เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายได้ให้สิทธิท่านเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงคำสำคัญเป็น หัวหน้าสถานศึกษา และ ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู หรือไม่ เพราะหากเปลี่ยนแปลงแล้วภายหลังเกิดความเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ
2. การที่มีการกล่าวอ้างว่า ต้องยอมรับไว้ก่อนเพราะถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผ่านให้จะทำให้เสียหายนั้น กรณีนี้ขอเรียนว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นองค์กรของรัฐมีหน้าที่ในเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมาย มีกรอบระยะเวลาในการทำงาน ไม่มีอำนาจอะไรที่จะระงับยับยั้งร่างกฎหมายใดตามอำเภอใจของตนเอง เว้นแต่ความในร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ขัดกฎหมายอื่นฯลฯ เป็นต้น แต่คำว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นั้น เคยใช้มาก่อน และเคยผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้วว่า ใช้ได้ จึงมีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
3. มีบางท่านถามมาว่าการที่ตนออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....นั้นมีเจตนาอะไร เรื่องนี้ขอชี้แจงให้ทราบถึงเจตนาคือ
- รักษาสิทธิประโยชน์ที่ครูเคยได้รับและพึงได้รับ
- ปกป้องเกียรติภูมิของครูที่เคยได้รับการยกย่องว่า เป็นวิชาชีพชั้นสูง
- สร้างแรงจูงใจให้คนเก่งและคนดี มาประกอบวิชาชีพครู
4. มีคุณครูฝากถามนายมีชัย ฤชุพันธ์ ว่า
- เปลี่ยนเพื่ออะไร
- เปลี่ยนแล้วระบบการศึกษาจะดีขึ้นหรือไม่
- เปลี่ยนแล้วนักเรียนได้ประโยชน์อะไร
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท.