เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด กช.วันนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข จัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ของโรงเรียนเอกชน เนื่องจากตามกฎหมายการศึกษาเอกชน โรงเรียนจะต้องทำประกาศจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น โดยต้องรายงานให้ผู้อนุญาตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งไม่ได้จัดทำประกาศฯ หรือบางแห่งทำแต่ไม่ได้ทำล่วงหน้า ขณะที่บางแห่งทำประกาศอย่างหนึ่งแต่จัดเก็บอีกอย่างหนึ่ง และรายการที่จัดเก็บก็ซ้ำซ้อน จนเป็นการแสวงหากำไรเกินสมควร และเป็นภาระแก่ประชาชนเกินไปด้วย
“จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆของโรงเรียนเอกชน โดยนำรายการที่โรงเรียนทั่วประเทศจัดเก็บมาจัดหมวดหมู่ใหม่ และบังคับว่า ต่อไป โรงเรียนจะต้องเปิดเผยประกาศต่อสาธารณชน และต้องเสนอผู้อนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดก่อนที่จะมีการจัดเก็บ หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิด ซึ่งผู้อนุญาตสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น สั่งงดรับนักเรียน หรือสั่งชะลอการจ่ายเงินอุดหนุน หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น” เลขาธิการ กช.กล่าวและว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาแก้ไขระเบียบมาตรการอุดหนุนโรงเรียนเอกชน จากเดิมการจ่ายเงินอุดหนุน สช.จะต้องโอนผ่านไปยังสช.จังหวัดก่อนจึงจะโอนไปให้โรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า ที่ประชุมจึงเห็นควรให้แก้ไขเป็นให้โอนตรงไปยังโรงเรียนได้เลย เพื่อลดขั้นตอนลง
ดร.อรรถพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เนื่องจากปีงบประมาณ 2564 มีโรงเรียนเอกชน 39 แห่งที่ไม่เคยรับเงินอุดหนุนแต่ได้มาขอรับ ซึ่งตามหลักแล้วโรงเรียนจะได้รับเงินย้อนหลังด้วย จึงส่งผลกระทบกับงบประมาณที่ สช.ต้องไปหาเงินเพื่อมาจ่ายเพิ่ม 270 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการตั้งงบประมาณ จึงได้มีการวางมาตรการใหม่ ว่า โรงเรียนที่จะยื่นขอรับเงินอุดหนุนหากยื่นหลังวันที่ 10 มิถุนายน ก็จะได้รับเงินอุดหนุนในปีการศึกษาถัดไป แต่ถ้ายื่นหลังจากนั้นจะต้องรอไปอีก 2 ปีการศึกษา เนื่องจาก สช.จะต้องตั้งเรื่องของบประมาณก่อน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 24 มีนาคม 2564