ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2564 ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษา ราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ....
ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 76 วรรคสาม กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 กำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ และมาตรา 6 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานรัฐมีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ
ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้จัดทำ (ร่าง) ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม โดยได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วและได้มีการเผยแพร่เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้รับบริการ และประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย (ร่าง) ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
มาตรฐานทางจริยธรรม 9 ข้อ
1. ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. ซื่อสัตย์ สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
3. กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก และกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม
4. มีจิตอาสา จิตสาธารณะ มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มุ่งมั่นในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ
6. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
7. ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
8. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงสิทธิเด็ก และยอมรับความแตกต่างของบุคคล
9. ยึดถือและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
โดยหลังจากนี้จะได้นำเสนอ ก.ม.จ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงพนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานทางการศึกษาโดยอนุโลมต่อไป
2. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และเพื่อให้ทันและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯนี้ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ และการนำผลการวิจัยมาเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว
สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ได้กำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 3 ด้าน คือ 1. ด้านนิเทศการศึกษา 2. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และ3. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับศึกษานิเทศก์ ครู สถานศึกษา หน่วยงานการศึกษา และส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เพื่อให้ศึกษานิเทศก์ได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการนิเทศการศึกษา มีการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ศึกษานิเทศก์เข้าถึงครู ห้องเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษามากขึ้น ได้รับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของห้องเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถนำมากำหนดแผนพัฒนา การนิเทศการศึกษา หรือพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ เป็นการลดกระบวนการและขั้นตอน โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ลดภาระในการจัดทำเอกสารและประหยัดงบประมาณเกี่ยวกับการประเมิน เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการในระบบการประเมินวิทยฐานะ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน และมี Big data ในการบริหารงานบุคคลสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ศึกษานิเทศก์ทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้น เป็นประจำทุกปี ซึ่งข้อตกลงในการพัฒนางาน ประกอบด้วย 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ
ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หรือการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน
โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง ในแต่ละรอบการประเมินต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ใช้เป็นผลการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน เพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้
2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ
1) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาในแต่ละวิทยฐานะ
2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 3 รอบการประเมิน
3) ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งย้อนหลัง 4 ปี ต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์
3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน สำหรับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ
ด้านที่ 1 ด้านทักษะการวางแผนพัฒนาการนิเทศการศึกษา กลยุทธ์ สื่อ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ในการนิเทศการศึกษา หรือการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ฯลฯ
ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หรือการพัฒนาสถานศึกษา หรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ฯลฯ
สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษจะมีการประเมิน ด้านที่ 3 ด้านผลงานทางวิชาการ
4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA)
5. เกณฑ์การตัดสิน ในแต่ละด้านต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ
โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ กำหนดให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 และยื่นคำขอผ่านระบบ DPA ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบริหารการศึกษา
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และเพื่อให้ทันและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์นี้ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ และการนำผลการวิจัยมาเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว
สำหรับตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ โดยกำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 5 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารและความเป็นผู้นำ การพัฒนาการศึกษา 2. ด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร 3. ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม 4. ด้านการบริหารงานชุมชนและเครือข่าย และ 5. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียน ครู สถานศึกษา หน่วยงานการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ มีภาวะผู้นำในการบริหารวิชาการ และบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน คุณภาพครู คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเชื่อมโยง(Alignment and Coherence) ในระบบการประเมิน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ลดความซ้ำซ้อนและงบประมาณ และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้ทำให้มี Big data ในการบริหารงานบุคคล สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ผู้บริหารการศึกษาทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงส่วนราชการ ได้ตลอดปี ซึ่งข้อตกลงในการพัฒนางาน ประกอบด้วย 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ (ภารงานบริหาร จัดการศึกษาและคุณภาพการปฏิบัติงาน)
ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ
โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง ในแต่ละรอบการประเมินต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ใช้เป็นผลการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้
2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ
1) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาในแต่ละวิทยฐานะ
2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 1 รอบการประเมิน โดยต้องมีผลการประเมินที่นำมาเสนอขอ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
3) ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งย้อนหลัง 1 ปีต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่เคยถูกวินิจฉัยชี้ขาดทางจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่หนักกว่าภาคทัณฑ์
3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้านสำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
ด้านที่ 1 ด้านทักษะการวางแผนกลยุทธ์ การใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมทางการบริหาร
ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ
สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษจะมีการประเมิน ด้านที่ 3 ด้านผลงานทางวิชาการ
4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินตามระบบปกติ
5. เกณฑ์การตัดสิน ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับ วิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ สำหรับด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ
4. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ตามนัยมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 โดยกำหนดให้เฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ สำหรับตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้เพื่อให้การย้ายตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการด้วยความเรียบร้อย มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ของ สพฐ. มาเป็นแนวทางในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ โดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การย้ายผู้บริหารการศึกษา มี 3 กรณี
1. การย้ายกรณีปกติ ได้แก่ การย้ายกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยให้ดำเนินการย้ายให้แล้วเสร็จก่อนที่จะบรรจุและแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก
2. การย้ายกรณีพิเศษ ได้แก่ การย้ายเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือการย้ายเนื่องจากถูกคุกคามต่อชีวิต หรือการย้ายเพื่อดูแลบิดามารดา คู่สมรส บุตร ซึ่งเจ็บป่วยร้ายแรง โดยต้องมีเอกสารหลักฐานทางราชการ หรือทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบการพิจารณาด้วย
3. การย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ ได้แก่ การย้ายเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการศึกษา หรือการย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
โดยการย้ายผู้บริหารการศึกษา ทุกกรณี ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 เสนอรายชื่อให้ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาอนุมัติย้าย เมื่อ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาอนุมัติการย้ายแล้ว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
ระพีพรรณ จวงถาวร : ภาพ
ธาริณี นาคเมธี : ข่าว
ศรายุทธ มาทัพ หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ : Editor
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.