15 มี.ค.64 - สพฐ. หาทางต่อลมหายใจ ปฎิรูปจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กในกทม. เน้นสร้างจุดขายเรียนแล้วสามารถต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ หวังดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น หลังยอดผู้เรียนลดฮวบ เพราะเด็กแห่สอบเข้าโรงเรียนดัง แถมได้รับผลกระทบจากปัญหาอัตราการเกิดต่ำซ้ำเติม
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมที่จะดำเนินโครงการการศึกษามุ่งสู่อาชีพที่เป็นอาชีพเฉพาะทางเลือกตามความถนัดของผู้เรียน โดยได้เลือกการทำโครงการนี้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมองว่าโรงเรียนใน กทม.ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนดังที่มีอัตราการแข่งขันสูงอยู่หลายแห่ง และเด็กเลือกไปสมัครแย่งที่นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จำนวนมาก จนทำให้โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางและเล็กมีจำนวนผู้เข้าเรียนลดน้อยลง ดังนั้นตนจึงคิดว่าหากโรงเรียนของ สพฐ.ในเขต กทม.ปรับรูปแบบบริหารจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพื่อมุ่งเน้นการต่อยอดอาชีพจะดีหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจข้อมูลแล้ว
“เรามีความเป็นห่วงโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางและเล็กที่ทุกวันนี้เด็กลดจำนวนลงไม่เพียงเพราะผู้ปกครองที่สนใจอยากจะพาบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนดังอย่างเดียว แต่อัตราการเกิดของประชากรก็ลดน้อยลงเช่นกัน เช่น โรงเรียนวัดสังเวช ในอดีตเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่แต่ทุกวันนี้มีเด็กน้อยมาก ดังนั้นเราจึงคิดว่าจะส่งเสริมให้โรงเรียนลักษณะนี้จัดการศึกษาเพื่ออาชีพไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสำหรับดนตรี กีฬา คหกรรม ซึ่งหากอนาคตเด็กสนใจจะประกอบอาชีพเชฟหรืออยากเป็นนักแสดงก็สามารถนำความรู้ที่เรียนไปต่อยอดอาชีพในฝันของตัวเองได้ "
นายอัมพรกล่าวอีกว่า โดยโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้จะเป็นโรงเรียนทางเลือกให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเอง รวมถึงในอนาคตสพฐ.มีแนวคิดจะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยเด็กคนไหนอยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ก็ให้นำเนื้อหาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมาให้เด็กม.ปลายได้เรียน หากสอบผ่านก็ให้เก็บสะสมเป็นหน่วยกิจหรือเครดิตแบงค์ เมื่อเรียนจบ ม.6 และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ทำความร่วมมือก็ไม่จำเป็นต้องไปลงเรียนในวิชาเหล่านั้นอีก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 15 มีนาคม 2564