ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต รายงานผลสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ เรื่อง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในมุมมองของประชาชน”
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับการพัฒนาการศึกษา ตลอดจนสะท้อนมุมมองที่มีต่อคุณลักษณะของผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง "KBU POLL" โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในมุมมองของประชาชน” ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,513 คน โดยเมื่อถามว่า รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ควรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคนนอก ร้อยละ 59.07 ระบุว่า คนนอก ร้อยละ 21.44 ระบุว่า ให้เป็นไปตามดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 19.49 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนคุณลักษณะของ รมว.ศึกษาธิการ กับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 32.58 ระบุว่า มีวิสัยทัศน์เข้าใจในบริบทของการศึกษา ร้อยละ 27.61 ระบุว่า มีความรู้ความสามารถในการบริหารการศึกษา ร้อยละ 17.58 ระบุว่า มีความมุ่งมั่นกล้าตัดสินใจในการแก้ปัญหา ร้อยละ 14.99 ระบุว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 5.08 ระบุว่า มีมนุษยสัมพันธ์ ได้รับการยอมรับจากวงการศึกษาและสังคม เมื่อถามถึงความคาดหวังจากรัฐมนตรีคนใหม่ ร้อยละ 26.44 ระบุว่า ยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ร้อยละ 22.63 ระบุว่า ปฏิรูปการศึกษาครบวงจร ร้อยละ 20.57 ระบุว่า แก้ปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 17.11 ระบุว่า นำนโยบายและแผนพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 10.91 ระบุว่า สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อถามถึงปัญหาที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข ร้อยละ 24.33 ระบุว่า คุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษา ร้อยละ 22.86 ระบุว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 19.84 ระบุว่า การลงโทษและล่วงละเมิดนักเรียนในสถานศึกษา ร้อยละ 17.81ระบุว่า กฎระเบียบที่ล้าหลังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10.13 ระบุว่า หนี้สินครู ส่วนข้อเสนอแนะทั่วไป กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะที่หลากหลาย แต่ในภาพรวมพบว่าส่วนใหญ่เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง ควรกำหนดมาตรฐานการผลิตครูร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ทบทวนนโยบายที่เป็นปัญหาและอุปสรรค จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียน จัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองศีลธรรมให้กับนักเรียนทุกระดับ ขจัดความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษา และกวดขันการปฏิบัติงานและความทุ่มเทของผู้บริหารการศึกษาในระดับต่างๆ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564