รมว.ศธ.เผย บอร์ด ก.ค.ศ.ไฟเขียวหลักเกณฑ์วิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ย้ำ การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะยึดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นองค์ประกอบเดียวในการพิจารณาความสามารถของครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยกำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกคนต้องทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นประจำทุกปี คือ ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ และข้อตกลงการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ซึ่งจะมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง โดยผลการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 สามารถนำมาใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ใช้เป็นผลการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน เพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ 4 ปีติดต่อกัน ส่วนการประเมินกำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน ได้แก่ ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ หรือนวัตกรรมการบริหาร และ 2.ผลลัพธ์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษจะมีการประเมินด้านผลงานทางวิชาการด้วย ซึ่งจะมีเกณฑ์ตัดสินในแต่ละด้านต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับการขอมีวิทยฐานะชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
“การเห็นชอบร่างเกณฑ์นี้เป็นการทำงานต่อเนื่องจากหลักเกณฑ์วิทยฐานะของข้าราชการครู จากนั้นก็จะมีเกณฑ์วิทยฐานะของศึกษานิเทศก์และผู้บริหารเขตพื้นที่ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาเส้นทางการเจริญเติบโตในสายงานการศึกษา และเราได้สร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้แก่ข้าราชการครูอย่างชัดเจน แม้หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่อาจไม่เหมือนเดิมมีความยากในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะมากขึ้น แต่ทั้งหมดที่ทำเพราะต้องการให้ครูและผู้บริหารได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าในการพัฒนา เนื่องจากการศึกษาเป็นวิชาชีพหนึ่งทีต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ส่วนประเด็นที่ครูหรือผู้บริหารเข้าใจว่าผลคะแนนทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ตจะมาประกอบเป็นผลงานวิชาการของตัวเองเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะนั้น ผมได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมแล้วว่าผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจะเป็นองค์ประกอบเดียวในการพิจารณาความสามารถของครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น” นายณัฏฐพล กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564