นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าตามที่เกิดปัญหาในเรื่องการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนและการบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนจากผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไว้ได้ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนมาแล้วแต่ไม่สามารถย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดใหญ่พิเศษที่ว่าง แต่กลับให้มีการเรียกบรรจุครูหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่สอบขึ้นบัญชีไว้ได้ ซึ่งถือว่าไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ นั้น เรื่องนี้ตนเห็นว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนของโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างนั้นมีสองเงื่อนไขคือ
๑. การเข้าสู่ตำแหน่งโดยการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสงค์ขอย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่าง ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ให้พิจารณาตัดสินคะแนนจากการให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้ายประกอบด้วย ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ วิสัยทัศน์ การประพฤติตน ภูมิลำเนาและความอาวุโสตามหลักราชการ
๒. การเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนโดยการเรียกบรรจุจากครูหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้หลังจากการย้ายเสร็จสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การย้ายและการบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นมีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งเลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้ให้ข่าวในเอกสารสถานี ก.ค.ศ. เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีสาระว่า ในรอบการย้ายผู้บริหารโรงเรียน สังกัด สพฐ. ประจำปี ๒๕๖๓ นั้น สพฐ. ได้มีหนังสือแจ้งว่ามีปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพิจารณาย้าย สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบการบริหารบุคคล เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าการพิจารณาย้ายผู้บริหารโรงเรียน ให้ กศจ.ดำเนินการย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จก่อนตามกำหนดเดิม (วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๓) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และยังให้ข้อมูลอีกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียนแต่ปัญหาในการย้ายครั้งนี้คือโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่ง สพฐ. ได้ลดขนาดจำนวนนักเรียนลง อยู่ที่ ๑,๖๘๐ คน จากเดิมประมาณ ๒,๕๐๐ คน ขึ้นไป ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษและโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลง บางจังหวัดไม่มีโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่เหลืออยู่เลย ทำให้ไม่มีผู้มีคุณสมบัติย้ายมาโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษได้
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้หารือเรื่องดังกล่าวและมีมติว่า หาก กศจ.ใดมีปัญหาไม่สามารถย้ายได้โดยเฉพาะข้อขัดข้องที่เกิดจากประกาศของ สพฐ. ที่ให้มีการกำหนดขนาดตามจำนวนนักเรียนใหม่ ให้หารือมายัง ก.ค.ศ.เพื่อนำประเด็นเข้าหารือที่ประชุม ก.ค.ศ. เป็นกรณีไป ส่วน สพฐ.จะต้องพิจารณากำหนดขนาดโรงเรียนตามจำนวนนักเรียนใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ สพฐ. หากพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องไปกำหนดใหม่
นอกจากนี้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องปลดล็อกให้ กศจ.สามารถย้ายโรงเรียนขนาดกลางไปขนาดใหญ่พิเศษได้ เพื่อประโยชน์ทางราชการและป้องกันไม่ให้กลุ่มที่ได้รับการบรรจุใหม่ ข้ามไปบรรจุโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ เพราะผู้ที่บรรจุใหม่บางคนมาจากครูผู้สอนที่ควรสั่งสมประสบการณ์บริหารไล่ตามขนาดโรงเรียน ตรงนี้เป็นหลักคุณธรรมพื้นฐาน หลังจากนี้ สพฐ. จะไปกำหนดขนาดโรงเรียนตามจำนวนนักเรียนใหม่ เพื่อมิให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วขอเรียนว่าการที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการย้ายให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการบรรจุจากผู้สอบขึ้นบัญชีได้ และยังกำหนดให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้ายทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ วิสัยทัศน์ การประพฤติตน ภูมิลำเนา และความอาวุโสตามหลักราชการ นั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้พิจารณาย้ายผู้ที่มีประสบการณ์การเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้มีโอกาสไปบริหารโรงเรียนที่มีขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ตามลำดับเสียก่อน และหากไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนรายใดได้ยื่นคำร้องขอย้ายอีก จึงจะให้โอกาสเรียกบรรจุจากผู้สอบขึ้นบัญชีไว้ได้โดยมีเจตนารมณ์ให้ผู้สอบขึ้นบัญชีไว้ได้ซึ่งถือว่าเป็นผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนในฐานะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้เริ่มต้นไต่ประสบการณ์จากการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปริมาณงานไม่มากนัก ไม่ซับซ้อน เสียก่อน อนึ่ง เรื่องนี้เลขาธิการ ก.ค.ศ.และ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ยอมรับว่าการปรับขนาดโรงเรียนของ สพฐ. ส่งผลกระทบและสร้างปัญหาให้กับเกณฑ์การย้ายที่มีความสัมพันธ์กับขนาดโรงเรียน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วควรต้องแก้ไขหลักเกณฑ์การย้ายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทันทีที่ค้นพบปัญหาเพราะมิฉะนั้นจะทำให้เกิดความสับสนและเสียหาย แต่เมื่อพิเคราะห์จากหลักเกณฑ์การย้ายจะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ได้กำหนด
แนวทางในการแก้ปัญหาคือ หาก กศจ.ใด ไม่สามารถดำเนินการย้ายตามปกติก็ให้ส่งเรื่องให้ ก.ค.ศ.พิจารณาได้ ดังนั้นกรณีเช่นนี้จึงยังมีช่องทางในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น เมื่อมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษว่าง และไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ยื่นคำร้องขอย้าย แต่มีผู้บริหารโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็กยื่นคำร้องขอย้ายไว้ ซึ่งจะไม่สามารถย้ายตามหลักเกณฑ์นี้ได้เนื่องจากเป็นการย้ายเกินกว่าหนึ่งขนาด กรณีเช่นนี้ กศจ. ยังสามารถส่งเรื่องให้ ก.ค.ศ.พิจารณาได้และเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์การย้ายแล้วเห็นได้ว่าหากยังมีผู้ยื่นคำร้องขอย้าย กศจ.ก็จะยังไม่สามารถเรียกบรรจุได้เพราะผู้สอบบรรจุขึ้นบัญชีไว้ล้วนแล้วแต่ไม่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่มีความเป็นผู้อาวุโสในการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ดังนั้น กศจ.จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยต้องมีหนังสือถึง ก.ค.ศ.เพื่อให้ ก.ค.ศ.พิจารณาและ ก.ค.ศ.จะต้องอนุมัติหรืออนุญาตให้มีการย้ายข้ามเกินกว่าหนึ่งขนาดได้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต่อไป
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจขอได้โปรดพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการให้ กศจ.ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยการอนุมัติเป็นหลักการให้มีการย้ายข้ามขนาดเกินกว่าหนึ่งขนาดได้ทั้งนี้ให้พิจารณาย้ายจากผู้ยื่นคำร้องขอย้ายขนาดเดียวกันก่อนตามลำดับ โดยหากยังคงปล่อยให้มีการเรียกบรรจุผู้ที่สอบได้ขึ้นบัญชีไว้ทั้งๆที่ยังมีผู้อำนวยการโรงเรียนยื่นคำร้องขอย้ายค้างอยู่ก็อาจทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอย้ายใช้สิทธิทางศาลทั้งศาลปกครองให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งและฟ้องศาลยุติธรรมให้ดำเนินคดีอาญาในประเด็นเรื่องการไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหายได้