11ก.พ.64-นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า สกศ. ได้วิจัยรูปแบบการจัดการเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมากในช่วงการระบาดโควิด-19 รอบแรกตั้งแต่เดือน มีนาคม - ธันวาคม 63 โดยจากการศึกษา พบสิ่งที่น่าสนใจทางการศึกษา 4 เรื่องสำคัญ ที่ควรถอดบทเรียนถ่ายทอดสู่สาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างตรงจุด โดยงานวิจัย สกศ. ค้นพบว่า
1.ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน คือ กลไกสำคัญที่ต้องรู้จักเลือกการใช้รูปแบบการเรียนอย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถผสมผสานทุกรูปแบบการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาด การสอนออนไลน์ (Online) สอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On air) รวมทั้งการไปเยี่ยมบ้านและกำหนดใบงานแก่นักเรียน (On hand) เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน
2.ครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน ต้องร่วมกันปรับตัว เพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน และกลับมาเรียนตามปกติ เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดลดความรุนแรงลง ขณะที่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมถึงการศึกษาทั้งระบบต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น และเร่งจัดเตรียมงบประมาณ อุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้านหรือไม่มีไฟฟ้าใช้ ควรใช้โอกาสนี้เก็บข้อมูลเพื่อวางแผนให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานกรณีที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า
3.ต้องสร้างการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนการเรียนรู้แก่บุตรหลานในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบแนวทางที่ชัดเจนของรัฐบาลในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นอาจจัดทำคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ เป็นต้น และเรื่องสุดท้ายได้รับเสียงสะท้อนชัดเจน
4.ผู้บริหาร ครู รวมถึงผู้ปกครอง ต้องการให้รัฐบาลมีแผนรองรับการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal Learning) โดยพร้อมประกาศใช้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเข้าใจระดับหนึ่งถึงการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งผ่านการสั่งงานผ่านโซเชียล มีเดีย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านการสอนออนไลน์ หรือให้ใบงานแก่นักเรียน ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม แม้จะยังไม่มีวิธีการดีที่สุดและต้องพยายามช่วยกันทำให้ดีที่สุดผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
"ผมเตรียมสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยนี้รายงานต่อที่ประชุมสภาการศึกษา ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เพื่อหารือเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงระบบการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รอบปัจจุบัน ซึ่งยังมีการปิดโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด จำเป็นต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อคุณภาพการศึกษาที่มีต่อเนื่อง"เลขาฯ สกศ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564