นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวว่า ตามที่มีการสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้ทำการสำรวจตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับปริญญาตรี พบว่า อุปกรณ์ที่ใช้มากที่สุดในการเรียนออนไลน์ คือ โทรศัพท์มือถือ และตัวเลขการสอนออนไลน์ทั้งหมด ร้อยละ 48.44 การเรียนร่วมระหว่างการเรียนออนไลน์และเรียนในห้องเรียน ร้อยละ 29.74
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด พบว่า มีการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 88.06 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือไม่ให้นักเรียนอยู่ใกล้ชิดกันในช่วงที่ผ่านมา
"ผมได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อหลายภาคส่วน ว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะต้องปรับการเรียนการสอนไปในทิศทางนี้ เพราะเราต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของการแพร่ระบาดของโรค" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณคุณครูที่ต้องอดทนในเรื่องการสอนออนไลน์ ซึ่งมีการยากมากกว่าการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ ซึ่งการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องที่พึ่งเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาในการเรียนเสริม การเรียนพิเศษ หรือสถาบันกวดวิชาต่างๆ เด็กไปนั่งในห้องเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ และดูครูสอนผ่านทางโทรทัศน์ เป็นการอัดเทป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ครูที่อยู่ในสื่อการสอน ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือภาคเอกชน สามารถขับเคลื่อนในส่วนนี้ให้สื่อการเรียนการสอนต่างๆ เข้าไปสู่โลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุด เดราะเราต้องขยับไปสู่โลกของความเป็นจริงที่โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของเราให้เป็นไปในรูปแบบที่การเว้นระยะห่างจะทำให้เราปลอดภัย ขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็ไม่ได้ถูกปิดกั้นไป”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564